xs
xsm
sm
md
lg

คณะวิจัย ม.ซานฟรานซิสโกระบุโลมาไม่น่าเสียชีวิตจากการแล่เนื้อขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตราด - หัวหน้าคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกระบุ โลมาไม่น่าเสียชีวิตจากการแล่เนื้อขาย เผยน่าติดอวนเสียชีวิตแล้วแรงงานนำเนื้อมาทำอาหาร เผยโลมาเสียชีวิตลดลง

วันนี้ (18 ม.ค.55) ที่ท่าเรือทรัพย์ชโลธร ดร.เอเลน ไฮเนส (Ellen Hines,PH.D) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยซานฟานซิสโก สหรัฐอเมริกา หัวหน้าคณะวิจัยโลมาในพื้นที่อ่าวตราด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด และปากน้ำครางครืน จ.เกาะกง ประเทศกัมพูชา พร้อมคณะวิจัยจากประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐ แคนาดา มาเลเซีย ศรีลังกาญี่ปุ่น เวียตนาม และไทยจำนวน 15 คน

โดยมีนางสาวชลาทิพ จันทร์ชมพู หัวหน้าทีมจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ฝั่งตะวันออก ร่วมเดินทางไปพร้อมกับเรือประมง เพื่อนำคณะวิจัย อุปกรณ์และเครื่องมือตรวจเสียงและจำนวนโลมา พะยูน เต่า ว่ามีจำนวนเท่าไรในพื้นที่ตั้งแต่อ่าวแหลมกลัด อ.เมือง อ่าวไม้รูด ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ ต้นเดือนมกราคม ปี 2555 และจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 มกราคม 2555

ดร.เอเลน กล่าวว่า ตนเองได้เข้าสำรวจวิจัย จำนวนโลมา พะยูน และเต่าทะเลในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2003 หรือปี 2546 และได้เข้ามาใน จ.ตราด เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งในพื้นที่ จ.เกาะกงประเทศกัมพูชา โดยศึกษาถึงสภาพการดำรงชีวิต ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม จำนวน การเสียชีวิต รวมทั้งการรณรงค์ให้ความรู้กับชาวประมงและเยาวชนในพื้นที่

ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตะวันออก อ.แกลง จ.ระยองในการศึกษาวิจัย ซึ่งคณะกรรมการและนำเสนอให้มหาวิทยาลัยฯและศูนย์วิจัยฯ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลและอนุรักษ์โลมา พะยูน เต่าทะเล ในบริเวณนี้ไว้

ดร.เอเลน กล่าวว่า ในส่วนการเสียชีวิตของโลมาตามข่าวที่สื่อมวลชนลงไปนั้นคงไม่ใช่จากการล่าโลมาและชำแหละเนื้อขายเพื่อการบริโภค แต่น่าจะเกิดจากโลมาติดเครื่องมือทำประมงจากชาวประมงที่วางอยู่จำนวนมากในทะเล เมื่อเสียชีวิตชาวประมงจึงนำมาชำแหละเนื้อมาบริโภคมากกว่า เพราะซากโลมาที่พบได้ทำการชันสูตรแล้วพบว่า เนื้อถูกชำแหละไปนั้นไม่ได้ชำแหละไปทั้งหมด หากจะนำไปขายจะต้องนำเนื้อไปทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่าโลมาเสียชีวิตลงน้อยมากโดยเฉพาะในปี 2554 มีจำนวนไม่ถึง 10 ตัว ในส่วนซากโลมาที่ถูกชำแหละได้นำไปฝังไว้แล้ว ส่วนลูกโลมาทางคณะวิจัยได้ดองน้ำยาไว้เพื่อเก็บไว้ศึกษาวิจัยต่อไป

ส่วนนายสุเทพ เจือละออก นักวิชาการประมง ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยฯให้ความเห็นเกี่ยวกับการเสียชีวิตของโลมาว่า ความเป็นไปได้ในการที่โลมาจะถูกล่าและชำแหละเนื้อไปจำหน่ายนั้น มีความเป็นไปได้น้อย ข้อสันนิษฐานของ ดร.เอเลน น่าจะถูกต้อง โดยโลมาอาจจะติดเครื่องมือทำประมงของชาวประมงที่วางไว้จำนวนมากในพื้นที่อ่าวตราดและในบริเวณใกล้เคียง เมื่อโลมาเสียชีวิตลูกเรือจึงนำเนื้อมาชำแหละเพื่อบริโภค และทิ้งซากลงทะเลมากกว่า

ขณะเดียวกันการเสียชีวิตชีวิตในรอบปี 2554 ก็มีไม่มาก อีกทั้ง ทางศูนย์วิจัยฯ ได้มีการรณรงค์ให้กับชาวประมงเพื่อไม่ให้มีการดำเนินการล่าโลมาหรือบริโภคเนื้อโลมาซึ่งก็ได้ผล จะสังเกตได้จากการเสียชีวิตของโลมามีจำนวนที่ลดลง


กำลังโหลดความคิดเห็น