xs
xsm
sm
md
lg

“โรงสีข้าวรัชมงคล”..กุศโลบายที่ “พ่อ” ทำเพื่อลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นินนาท ไชยธีรภิญโญ
“โรงสีข้าวรัชมงคล” ..กุศโลบายที่ “พ่อ” ทำเพื่อลูก

โดย...รัชญา จันทะรัง

อย่างรถที่นั่งมา...สร้างด้วยฝีมือคนไทย...มีจำนวนสองร้อยกว่าคน ก็เลยทำให้เห็นว่าน่าจะหาทางที่จะช่วยเหลือคนที่อยู่ในโรงงานนี้...แล้วก็ตั้งใจที่จะสนับสนุนให้เขาตั้งโรงสีเหมือนโรงสีในสวนจิตรฯ ข้าวในโรงสีนี้เป็นข้าวที่ซื้อจากเกษตรกรโดยตรงโดยให้ราคาที่เหมาะสม เกษตรกรก็มีความสุข เพราะขายข้าวในราคาที่เหมาะสม และผู้บริโภคที่ซื้อข้าวได้ในราคาถูก เพราะว่าไม่ต้องมีการขนส่งมากเกินไป ไม่ต้องมีคนกลางมากเกินไป ตกลงทั้งผู้ผลิตผู้บริโภคก็มีความสุข” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2540 อันเป็นแหล่งก่อกำเนิดโรงสีข้าวตามแนวพระราชดำริ ในนาม “บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด” ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ก.ย.2542 ภายในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา
วิเชียร พวงภาคีศิริ
นินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ฉายภาพก่อนที่จะมาเป็นข้าวรัชมงคลเฉกเช่นทุกวันนี้ ว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 แล้วเกิดฟองสบู่แตก จากนั้นในเดือน พ.ย.ปีเดียวกันก็เกิดข่าวลือว่าทางโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น จะประกาศปิดโรงงานที่เกตเวย์ เตรียมจะลอยแพพนักงานกว่า 5,500 คน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงเป็นห่วงว่าราษฎรของพระองค์จะตกงาน จึงทรงมีพระราชดำริขอซื้อรถยนต์โซลูน่าเพื่อให้คนไทยได้มีงานทำ จนกลายมาเป็นรถยนต์ฝีมือของคนไทยซึ่งเป็นราษฎรของพระองค์ท่าน

นินนาท เล่าต่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 6 แสนบาท เพื่อนำมาเป็นทุนจดทะเบียนบริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด โดยทรงถือหุ้น 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่นให้ดีขึ้นด้วยการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา และสหกรณ์การเกษตร ชุมชนในราคายุติธรรม พร้อมจำหน่ายข้าวสารในราคาเหมาะสม โดยมิได้หวังผลกำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งนับเป็นกุศโลบายอันแยบยลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“ตอนนั้นผมยังไม่ทราบว่าการตั้งโรงสีข้าวจะมีผลดีมากมายขนาดนี้ เพราะสิ่งที่ได้จากโรงสีข้าวทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเป็นแกลบ รำข้าวที่เราได้สดๆ จากโรงสีทุกวันเกษตรกรสามารถมาซื้อในราคาถูกเพื่อนำไปเลี้ยงหมู ไก่ ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องไปขนมาจากที่ไกลๆ ซึ่งเป็นการครบวงจรเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ซึ่งพระองค์ท่านทรงคิดแต่ท่านไม่อธิบาย จนกระทั่งพวกเราได้มาลงมือทำเองถึงได้รู้ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ที่พระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวโตโยต้าได้มีส่วนร่วมในการดำเนินตามรอยพระยุคลบาทในการจัดสร้างโรงสีข้าวขึ้น” รองประธานกรรมการบริษัท โตโยต้า กล่าว
จุฬาลักษณ์ มูลสาร
วิเชียร พวงภาคีศิริ ผู้อำนวยการ บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด เล่าถึงการดำเนินงานของโรงสีแห่งนี้ด้วยว่า ใน 7 ปีแรก ที่โตโยต้าเปิดโรงสีข้าวรัชมงคลก็ขาดทุนมาโดยตลอดคิดเป็นมูลค่า 15 ล้านบาท เพราะโตโยต้ารู้แต่เรื่องการผลิตรถยนต์ ซึ่งถ้าเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็คงต้องเข้าฟื้นฟู ซึ่งน่าจะเป็นโชคชะตาที่ตนเองมีโอกาสได้เข้ามาดูแลตนเองก็ยึดพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงให้ไว้มาโดยตลอด ซึ่งพระองค์ท่านต้องการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่นี่ คนที่นี่ โดยเราเริ่มตั้งแต่การแลกพันธุ์ข้าวโดยทางโรงสีเอาพันธุ์ข้าวแท้มาให้เขาแลก การประกวดพันธุข้าวที่ดีที่สุดในกลุ่มเกษตรกร เมื่อปลูกและสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ก็สามารถนำมาขายที่เราซึ่งโรงสีข้าวรัชมงคลจะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 10-30 เปอร์เซ็นต์ และ 3 ปีที่ผ่านมา เราส่งเสริมให้เขาปลูกข้าวนาโยนโดยราคารับซื้อจะเพิ่มขึ้นการปลูกข้าวแบบทั่วไปอีก 1,000 บาท เพราะการปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้านั้นไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง พร้อมทั้งยังมีการประกันข้าวที่ปลูกด้วยวิธีโยนกล้าหากตายชดเชย ผลผลิตไม่ได้เท่าเทียมกับการปลูกด้วยวิธีปักดำก็จะให้จ่ายเงินในราคาเดียวกัน ทั้งนี้ เรามุ่งหวังที่จะให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบอินทรีย์

วิเชียร เล่าถึงเคล็ดลับความอร่อยของข้าวรัชมงคลสายพันธุ์ข้าวดอกมะลิ 105 ด้วยว่า เวลาสีข้าวจะขัดขาวเพียง 1 ครั้ง ขัดเงา 2 ครั้ง ซึ่งจะทำให้ข้าวรสชาติ และอีกประการคือเราจะใช้ระบบ TOYOTA Production System คือ การสีข้าวแบบวันต่อวัน หรือนานสุดจะต้องไม่เกิน 1 สัปดาห์ อีกทั้งเวลาจัดเก็บข้าวในยุ้งฉางก็จะใส่ตัวเลขกำกับไว้อีกด้วย

ด้านจุฬาลักษณ์ มูลสาร ประธานสหกรณ์การเกษตรบ้านนายาวสามัคคี จำกัด เล่าถึงประโยชน์ที่ได้รับด้วยว่า ตอนที่กลุ่มของเราเข้าร่วมก็ยังไม่หวังว่าเขาจะช่วยเหลือเพราะเราต้องพึ่งตนเองก่อน แต่พออยู่มาคุณภาพชีวิตของเราก็ดีขึ้นเขาให้ฉางเก็บข้าว และให้มาเรื่อยๆ และที่สำคัญเราสามารถขายข้าวเปลือกได้ราคาดีกว่าที่ตลาดรับซื้อทำให้มีรายได้สูงขึ้น คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น และเราสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด

“กำไรที่ได้จากการขายข้าวรัชมงคลนั้นเราไม่เคยปันผลให้กับผู้ถือหุ้นซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านก็ทรงทราบ ดังนั้นพอปีที่ 8 ในปี 2550 โรงสีข้าวเริ่มมีกำไรเราก็นำกำไรที่ได้ไปซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์การเกษตรมอบแก่กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดฉะเชิงเทราทุกปีซึ่งครั้งนี้เราได้มอบสระน้ำรัชมลคล 1 ให้กับกลุ่มเกษตรกรบ้านนายาวหรือแม้แต่เมื่อครั้งที่เราขาดทุนพระองค์ท่านก็ยังทรงมีพระราชดำรัสในโอกาสครบรอบ 10 ปีบริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด เมื่อปี 2552 ด้วยว่า ““ขาดทุนเป็นการได้กำไรของเรา” ผอ.โรงสีข้าวรัชมงคลระบุ ทิ้งท้าย

...ไม่ว่าเราจะเจอวิกฤติมากมายสักเพียงไหน “พ่อ” ก็คือ คนที่อยู่เคียงข้างเราเสมอและไม่ได้หวังว่า”ลูก” จะต้องมาตอบแทน หากจะเป็นการดีถ้าเราจะรักพ่อให้มากพอและดำเนินตามรอยเท้าที่พ่อสร้างไว้...
แปลงผักอยู่ในศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียง โรงสีข้าวรัชมงคล ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา
กำลังโหลดความคิดเห็น