กลุ่มวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ เข้าพบนายกฯ เสนอตัด 5 ถนนฝั่งตะวันออกเปิดทางน้ำไหล หลังสำรวจหลายเส้นทางขวางทางน้ำ แถมปั๊มน้ำทำงานไม่เต็มที่ เพราะน้ำไหลไม่มากพอ โยนรัฐประเมินความเสียหายก่อนตัดสินใจ ด้าน “สุกำพล” รับถนนเป็นอุปสรรคระบายน้ำจริง หากจำเป็นก็ต้องเจาะ เชื่อยังมี “บูรพาวิถี” รองรับ ไม่กระทบคนแต่ไปภาคตะวันออกแน่
วันนี้ (27 ต.ค.) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและทรัพยากรน้ำชาวไทย นำโดย นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานบริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายชูลิต วัชรสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำ และ นายทศพร ศรีเอี่ยม ได้เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอแนวทางในการระบายน้ำในพื้นที่ตะวันออกของ กทม.โดยการทำการขุดเจาะถนนจำนวน 5 เส้นทาง เพื่อเปิดทางให้น้ำไหลผ่านได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากพบว่าระบบระบายน้ำยังทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะไม่สามารถผันน้ำเขาเครื่องสูบน้ำได้มากเพียงพอ
หลังจากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มอบหมายให้คณะของ นายนินนาท ประชุมหารือร่วมกับ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม กรมทางหลวง กรมชลประทาน และกรุงเทพมหานคร เพื่อประเมินแนวทางในการดำเนินการ รวมไปถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทางคณะจะได้ร่วมกันขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อสำรวจเส้นทางก่อนสรุปผลและนำเสนอนายกฯอีกครั้ง
โดย นายนินนาท เปิดเผยก่อนขึ้นสำรวจพื้นที่ ว่า สิ่งที่ทางคณะมาเสนอกับทางรัฐบาลในการแก้ปัญหาน้ำท่วม คือการระบายน้ำออกทางภาคตะวันออก โดยการเจาะถนนที่ขวางทางน้ำก้อนมหึมาอยู่ในตอนนี้ 5 เส้นทาง ได้แก่ ถ.ประชาร่วมใจ ถ.ราษฎร์อุทิศ ถ.สุวินทวงศ์ ถ.ร่วมพัฒนา และ ถ.นิมิตรใหม่ ซึ่งจะมีการเจาะผ่านถนนดังกล่าวประมาณ 5-6 เมตรต่อจุด โดยเราจะพยายามรวบรวมผู้รับเหมาก่อสร้างทางภาคเอกชนมาช่วยเหลือการขุดเจาะถนน ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจว่า หากมีการดำเนินการจริงจะมีผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ในเส้นทางเหล่านั้นอย่างไร
“ในฐานะภาคเอกชนพยายามจะรวบรวมแนวทาง เพื่อให้รัฐบาลสามารถระบายน้ำก่อนใหญ่ซีกตะวันออกให้ลงสู่ทะเลโดยเร็ว ซึ่งก็จะช่วยทำให้พื้นที่ กทม.ชั้นในคลายความกังวลไปได้เยอะ เพราะจากการลงพื้นที่เมื่อวานนี้ (26 ต.ค.) พบว่า ปั๊มน้ำยังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำงานได้เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น เนื่องจากไม่มีน้ำไหลมาถึงในปริมาณที่มากพอ เพราะมีถนนเป็นคันกั้นน้ำอยู่หลายสาย” นายนินนาท กล่าว
ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ขอไปสำรวจเส้นทางที่จะดำเนินการตัดถนนก่อน ซึ่งยอมรับว่ามีถนนของ กทม.และกรมทางหลวง ที่ขวางกั้นทางน้ำ หากจำเป็นจะต้องตัดถนนเพื่อระบายน้ำออกก็ต้องทำ แต่การจะตัดถนนนั้นจะต้องทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่เสียก่อน ส่วน ถ.บางนา-ตราด หากจำเป็นต้องตัดก็จะไม่กระทบต่อเส้นทางที่จะออกไปยังภาคตะวันออก เนื่องจากมีทางพิเศษบางนา-ชลบุรี หรือบูรพาวิถีคอยรองรับอยู่