xs
xsm
sm
md
lg

โตโยต้าหวั่นปรับค่าแรงบ.รถหันซื้อชิ้นส่วนตปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - ยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” มองนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท กระทบผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อย ลดภาษีนิติบุคคลแทบไม่ได้ช่วย สุดท้ายต้นทุนการผลิตรถพุ่ง ผลักให้บริษัทรถต้องหันไปซื้อชิ้นส่วน จากประเทศเวียดนาม, อินโดนีเซีย หรืออินเดียแทน หากรัฐบาลใหม่จะดำเนินการจริง ผู้ประกอบอยู่ได้ต้องเพิ่มการผลิตอีก 40% แต่เป็นเรื่องยาก มีทางเดียวรัฐบาลต้องรับส่วนต่างดังกล่าว ขณะที่สถานการณ์ครึ่งปีหลังเร่งฟื้นการผลิต รับความต้องการตลาด คาดยอดรวมพุ่งกว่า 9 แสนคัน

นายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า นโยบายการขึ้นแรงขั้นต่ำ 300 บาท ลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 20% ของพรรคเพื่อไทย ว่าที่ผู้นำรัฐบาลไทยใหม่ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้ระดับชีวิตของคนไทยดีขึ้น แต่ต้องมาดูเรื่องของค่าครองชีพด้วย หากปรับสูงขึ้นมากกว่าค่าแรง ย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไร จึงอยากให้รัฐบาลใหม่พิจารณาความสมดุลระหว่างค่าแรงกับค่าครองชีพให้ดี

“การลดภาษีนิติบุคคลนับว่าเป็นผลดีต่อบริษัทใหญ่ๆ แต่จะกระทบกับผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี(SME) เพราะแทบจะไม่ได้ช่วยรับภาระการปรับค่าแรงของผู้ประกอบการเลย ที่สุดจะส่งผลกระทบต่อต้นทุน ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์มีการใช้ชิ้นส่วนจากผู้ประกอบรายย่อยเช่นกัน แน่นอนหากต้นทุนสูงขึ้น บริษัทผู้ผลิตรถต้องหันไปพิจารณาซื้อชิ้นส่วนจากเวียดนาม, อินโดนีเซีย หรืออินเดีย แทนซื้อจากผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยได้”

ทั้งนี้ต้นทุนค่าแรงของบริษัทรถ อยู่ในระดับที่มีเปอร์เซ็นต์ไม่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิตหรือมูลค่ารถ แต่หากเป็นเอสเอ็มอี หรือบรรดาผู้ชิ้นส่วนรถยนต์ ถือว่าเป็นต้นทุนที่สูงทีเดียว จำเป็นต้องปรับราคาสินค้า หรือชิ้นส่วน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และย่อมทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาขึ้นตามต้นทุน ส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันลดลง และกระทบต่อการส่งออกอย่างแน่นอน

สำหรับโตโยต้าในฐานะของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ย่อมต้องมีความเห็นภายใต้กรอบเดียวกัน โดยปัจจุบันพนักงานโตโยต้าที่มีค่าแรงต่ำกว่า 300 บาท เฉพาะพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราว ซึ่งมีอยู่ประมาณกว่า 8,000 คน จะได้รับค่าจ้างอยู่ 215 บาทต่อวัน ขณะที่พนักงานของโตโยต้าวุฒิปริญญาตรี มีอัตราเงินเดือนเริ่มต้น 16,000 บาท ตรงนี้จึงไม่มีปัญหากับนโยบายเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาทของว่าที่รัฐบาลใหม่

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า การปรับขึ้นของค่าแรงจะช่วยให้แรงงานมีรายได้เพิ่ม และทำให้มีกำลังซื้อมากขึ้น แต่พึงระวังค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเป็น 300 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 215 บาท เป็นอัตราที่ปรับขึ้นถึง 40% ซึ่งการที่จะทำให้ผู้ประการอยู่ได้ในอัตราดังกล่าว ต้องปรับเพิ่มการผลิตให้ได้ 30-40% เช่นกัน หรือหากทำไม่ได้ส่วนต่างที่เกิดขึ้น รัฐบาลควรจะเข้ามารับภาระดังกล่าว

“อย่าลืมว่าการลดภาษีนิติบุคคล ไม่สามารถช่วยผู้ประกอบการได้ทั้งหมด อาจจะส่งผลดีต่อบริษัทรายใหญ่ แต่เอสเอ็มอีบางรายที่มีกำไรไม่มาก ซึ่งปัจจุบันเสียภาษีต่ำกว่าอัตรา 20% ตามเงื่อนไขของการเสียภาษีนิติบุคคลอยู่แล้ว หรือบางบริษัทก็ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีนิติบุคคล แต่จะต้องแบกรับภาระต้นทุนจากการปรับค่าแรงมากถึง 40%”

นายทานาดะกล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยช่วงครึ่งปีแรก แม้จะประสบปัญหาจากการเหตุการณ์สึนามิ แต่สามารถฟื้นการผลิตได้รวดเร็วกว่าคาด ประกอบกับตลาดมีความต้องการสูงขึ้น ส่งผลทำยอดขายสถิติใหม่เป็นกว่า 4.3 แสนคัน ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วยเดียงกันของปีที่ผ่านมา 21% โดยแบ่งเป็นรถเพื่อการพาณิชย์เพิ่มขึ้น 17% และเฉพาะปิกอัพ 1 ตัน เติบโต 18% ขณะที่รถยนต์นั่งปรับเพิ่ม 26%

“เดือนสิงหาคมนี้บริษัทรถเกือบทั้งหมด น่าจะกลับมาฟื้นการผลิตเป็นปกติ ยกเว้นฮอนด้าอาจจะช้าไปเป็นเดือนกันยายน จึงมั่นใจว่าบริษัทรถในไทยจะสามารถเร่งการผลิต ตอบสนองความต้องการของตลาดที่สูงมากได้ ประกอบกับการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ สู่ตลาด จึงคาดว่าถึงสิ้นปีจะมียอดขายรถยนต์ในไทย รวมกว่า 9 แสนคัน เพิ่มขึ้น 12.4%”

สำหรับโตโยต้ามียอดขายครึ่งปีแรก 1.56 แสนคัน เพิ่มขึ้น 8% มีการส่งออกรถสำเร็จรูป 1.36 แสนคัน ลดลง 17% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ จนทำให้การผลิตรถชะงักไประยะหนึ่ง แต่หลังจากปรับเพิ่มกำลังการผลิตที่โรงงานบ้านโพธิ์อีก 40% ตั้งแต่เดือนกันยายน จะทำให้สามารถผลิตรองรับความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะในประเทศและส่งออกได้ โดยคาดว่าจะมียอดขายในไทยปีนี้ประมาณ 3.6 แสนคัน เพิ่มขึ้น 10.4% และส่งออกรถสำเร็จรูป 3.28 แสนคัน หรือลดลง 2% และรวมมูลค่าส่งออกทั้งหมด 1.86 หมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น