xs
xsm
sm
md
lg

จากน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯถึง…วิธีจัดการภัยพิบัติฉบับ ‘ปักษ์ใต้’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย... จารยา บุญมาก

“ที่ใต้ไม่ได้มีแค่ฝน แค่ลม แต่หมายรวมถึงน้ำป่า โคลนถล่ม น้ำท่วม สึนามิ พายุหมุนเขตร้อนในอ่าวไทย และการกัดเซาะชายฝั่ง บ้านเรือน และพื้นที่เกษตร เสียหายบ่อยครั้ง แต่ที่หลายคนลืม เป็นเพราะความเสียหายอันรุนแรงไม่เกิดกับชีวิตมนุษย์ มากมาย ความเสียหายไม่ได้ทำให้ชาวบ้านขาดอาหาร ขาดน้ำ หรือถูกดินทับตายจนเป็นข่าวใหญ่โต ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพราะชาวบ้านเข้าใจหลักการเอาตัวรอด โดยไม่ขวนขวายรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว เพราะต่างรู้ดีว่า กระบวนการทำงานของคนในพื้นที่ ย่อมรวดเร็ว เนื่องจากคุ้นเคยและเข้าใจสถานการณ์ ซึ่งคนในชุมชนรู้ดีว่าต้องแบ่งงานกันอย่างไร ใครเฝ้าระดับน้ำ ใครดูสถานการณ์อากาศ ใครส่งข่าวเตือน และใครที่ประสานงานศูนย์อพยพ ฯลฯ ” เบญจา รัตนมณี ผู้ประสานงานสมัชชาภาคใต้ อธิบายถึงขั้นแนวความคิดเบื้องต้น ในการจัดการและป้องกันปัญหาภัยพิบัติ

เบญจา บอกอีกว่า ในการประชุม สมัชชาสุขภาพภาคใต้ 14 จังหวัด ครั้งที่ 2 ที่ ม.ราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ตรัง อ.เมือง จ.ตรัง เมื่อเร็วๆ นี้ นอกจากเฝ้าระวังสถานการณ์ โดยใช้ประสบการณ์จากสึนามิ ซึ่งได้สำรวจพื้นที่เสี่ยงให้รอบๆ บริเวณ อำเภอที่รับผิดชอบ โดยเน้นที่อำเภอรอบนอก ติดป่า ส่วนเทศบาลก็ประสานงานร่วมในเรื่องของการวางแผนศูนย์อพยพ พร้อมทั้งกระจายแนวคิดผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพ เพื่อตั้งกลุ่มในการทำงานเชิงอนุรักษ์ เช่น ปลูกป่าชายเลน รั้งดิน เช่น ที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร เป็นต้น ก็เพื่อป้องกันภัยจากธรรมชาติ ทั้งวาตภัยและอุทกภัย ซึ่งจำแนกออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ การจัดการภัยพิบัติระดับภูมิภาค (ภาคใต้) ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น (หรือชุมชน) เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม ส่วนกรณีมีการอพยพเรื่อง อาหารและที่พัก ก็กระจายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ (อปท.) มีส่วนในการแบ่งงานกันประกอบอาหารเพื่อช่วยเหลือประสบภัย ส่วนหากได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ก็แค่เอาทุกอย่างมาสมทบเท่านั้น ส่วนงบประมาณนั้น เนื่องจากมีภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทางชุมชนจึงมีกองทุนรวมให้ชาวบ้านจ่ายเงิน 50% อีก 50% จ่ายให้ เป็นงบกลางที่เริ่มดำเนินการมาได้ราว 2 ปี แล้วในพื้นที่ภาคใต้

ด้านนายชาคริต โภชะเรือง เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ จ.สงขลา ในฐานะคณะทำงานวิชาการประเด็นการจัดการภัยพิบัติฯ เสริมว่า จากปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และภาคกลางหลายพื้นที่สะท้อนการบริหารจัดการที่มีขนาดใหญ่แต่ไร้ทิศทางและไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก จึงคิดว่า ต้องกระจายวิธีการจัดการน้ำแตกย่อยไปอีกร้อยชุมชน โดยสำรวจว่าแต่ละซอย น้ำมาจากไหน ดูประชากรในพื้นที่ บ้านหลังใดป่วย บ้านไหนพิการ ใช้กระบวนการตรงนี้ ทำให้ประชาชนกลับมาพลิกฟื้นความสัมพันธ์กันได้และสามารถจัดการปัญหาภัยพิบัติได้ในอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมีการก่อตั้งเว็บไซต์ www.hatyaicityclimate.org ซึ่งมีการติดตั้งกล้องซีซีทีวีบริเวณที่น้ำหลากบ่อยครั้ง ที่ได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลางของรัฐบาล แล้วลิงก์เข้าเว็บไซต์ โดยมีระบบสำรอง 2 ระบบป้องกันระบบล่มในช่วงเวลาวิกฤต เพื่อรายงานสถานการณ์อบย่างต่อเนื่อง โดยหากเป็นฝนฟ้า พายุ จะรายงานอย่างเร็วที่สุด 9 ชั่วโมง แต่มีอัปเดตรายงานจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยา ทุกๆ 15 นาที ในเว็บไซต์ ซึ่ง 9 ชั่วโมงนี้ มีเวลาเหลือเฟือที่จะอพยพผู้คนออกจากพื้นที่เสี่ยง ส่วนคนเมืองไม่ต้องลำบากแค่คลิกเว็บไซต์ซึ่งง่ายต่อการเข้าถึง หากเจอการเตือนภัย หรือ ระบบแจ้งสถานการณ์วิกฤต ก็เตรียมตัวได้เร็วกว่าคนในชนบทมากถึง 3 ชั่วโมง แต่กรณีฉุกเฉินอย่างสึนามิ ก็อาจมีเวลาแค่ 1 ชั่วโมง ประสิทธิภาพจึงมีจำกัด แต่ถ้าทำได้ดี อย่างน้อย ก็ลดความเสียหายได้
ตัวอย่างหน้าเว็บเฝ้าระวังภัยพิบัติ
เบญจา รัตนมณี
ชาคริต โภชะเรือง
กำลังโหลดความคิดเห็น