xs
xsm
sm
md
lg

“ครรชิต เข็มเฉลิม” ทายาทรุ่นที่ 2 แห่ง “สวนวนเกษตร”/ส่องฅนคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ครรชิต เข็มเฉลิม”
ทายาทรุ่นที่ 2 แห่ง “สวนวนเกษตร”

โดย...คุณวัตร ไพรภัทรกุล

“20 ปี ของการปลูกมันสำปะหลังแบบทุนนิยมกว่า 300 ไร่ ต้องกินแบบอดๆ อยากๆ เพราะตอนขายแม้ว่าจะได้เงินเป็นหลักแสน แต่ก็ต้องเอาไปใช้หนี้ที่นำมาลงทุน กลับถึงบ้านจึงไม่เหลือเงินพอที่จะมีอาหารดีๆ ไว้กิน แม้ว่าตัวเองจะมีอาชีพเป็นเกษตรกรก็ตาม” ครรชิต เข็มเฉลิม ในวัย 44 ปี ทายาทผู้สืบทอดเจตนารมณ์ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ผู้ให้กำเนิดสวนวนเกษตร เล่าถึง ผู้เป็นพ่อเมื่อครั้งยังเวียนว่ายอยู่ในระบบทุนนิยม

ครรชิต เล่าต่อว่า ไม่นานหลังจากนั้น พื้นที่กว่า 300 ไร่ ก็เหลือเพียง 10 ไร่ แต่ปัจจุบันด้วยที่เพียง 10 ไร่ ที่ตั้งอยู่ที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กลายเป็นป่าขนาดย่อม หรือ “สวนวนเกษตร” ที่มีต้นไม้หลากสายพันธุ์กว่า 1,000 ชนิด กลายเป็นแหล่งเรียนรู้พันธุ์ไม้ที่ไม่ได้สอนให้รู้จักแค่ชื่อ แต่สอนให้รู้ถึงสรรพคุณและการจัดการทรัพยากรจากพันธุ์ไม้เหล่านั้นด้วย
“สิ่งที่ทำให้พ่อหันมาเปลี่ยนวิธีคิดเป็นการอยู่อย่างพอเพียงก็เพราะความหิว ต้องเอาตัวรอด สิ่งแรกที่แกคิดได้คือ ‘ผักบุ้ง’เพราะขึ้นง่าย โยนไปในน้ำ มันก็ขึ้น พอเอามากินก็รู้สึกว่าการปลูกกินเองก็ดีกว่าการทำเกษตรแบบที่ต้องไปซื้อเขากิน พอกินเหลือ แกก็เอาผักบุ้งไปขายได้ตังค์กลับมาอีก ไม่เห็นต้องอดๆ อยากๆ หรือเครียดเหมือนตอนปลูกมันสำปะหลัง แกจึงให้ความสำคัญมาโดยตลอดกับเรื่องวิธีคิด เพราะถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดได้ ชีวิตเราก็จะเปลี่ยน”
พอเพียงแบบ ‘วนเกษตร’
ครรชิต อธิบายถึงสิ่งสำคัญของการอยู่อย่างพอเพียง แบบวนเกษตร ว่า ประกอบด้วย 1.คน 2.ทรัพยากร 3.ความรู้ ที่ผ่านมา เกษตรกรถูกทำให้ตัวเองมีความรู้น้อย เพราะระบบการศึกษาก็ไม่ได้สอนให้เรารู้ปัญหาของตัวเองเลย อย่างคนที่จบปริญญาด้านเกษตร ก็จะรู้แต่พียง มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย สับปะรด แต่หญ้าที่เหยียบอยู่ หรือแม้แต่ข่อยยังไม่รู้เลยว่าเอาไปทำอะไรได้บ้าง เพราะถ้าเรารู้ เราก็สามารถนำทรัพยากรใกล้ตัวเหล่านั้นมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก

“ถ้าเราไม่มีความรู้ ไม่มีการจัดการที่ดีว่าทรัพยากรที่มีอยู่เอาไปทำอะไรได้บ้าง เราก็จะถางป่าไปเข้าสู่ระบบทุนกันหมด เมื่อไม่นานมานี้ ผมลงไปที่ จ.กระบี่ เพื่อไปกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากต้นเทพธาโร ซึ่ง 1 ต้นขนาดคนโอบ นำรากมากลั่นครั้งหนึ่งได้ 10-15 ลิตร โดย 1 ลิตร ผลิตเป็นยาหม่องขวดเล็กๆ ได้ 350 ขวด ขายราคาขวดละ 60 บาท แต่ถ้านำมาขายเฉพาะน้ำมันจะได้ประมาณ 1 หมื่นบาทต่อลิตร ซึ่งต้นไม้เพียงหนึ่งต้นก็สามารถสร้างรายได้ได้มากขนาดนี้ แต่เจ้าของที่ดินที่ จ.กระบี่ กำลังโค่นทรัพยากรเหล่านี้ที่มีอยู่เป็นร้อยไร่ทิ้ง แล้วไปปลูกยางพาราแทน แล้วถ้ายางพาราราคาตก ความมั่นคงของชีวิตจะอยู่ตรงไหน”

ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นอย่างครรชิตคิดไม่ต่างกับผู้ใหญ่วิบูลย์ว่า อย่างมันสำปะหลัง ก็ไม่ได้เป็นของคนไทย ต่างชาติมาให้เราปลูก ชาวบ้านเลยถางป่าทิ้งแล้วมาปลูกมันฯ แทน จึงมีการกำหนดราคาขึ้น อีกปีหนึ่งราคามันฯสูงขึ้นชาวบ้านก็แห่กันปลูกมันฯกันหมด พอปีต่อมาราคาตก ชาวบ้านเจ๊งก็เลยต้องขายที่ คนมาซื้อที่ต่อก็เป็นนายทุน เลยอยากจะบอกว่าอย่าไปขายแข่งกับระบบทุนเลย ยังไงก็แพ้ เพราะเขาเป็นคนกำหนดราคา

“หากอยู่แบบพอเพียง เราไม่จำเป็นเลยว่าราคาพืชผลทางการเกษตรตอนนี้อยู่ที่เท่าไหร่ แต่การอยู่แบบพอเพียงก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ยุ่งกับใคร เพราะอย่างที่วนเกษตรเองก็ไม่มีนาแต่ทำไมเรามีข้าวกิน เพราะเราอยู่กันเป็นเครือข่าย ก็ไม่จำเป็นต้องปลูกเอง ผมซื้อข้าวปลอดสารพิษจากเครือข่ายที่เรามี ซึ่งการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเครื่องมือที่ดีที่จะช่วยให้เรารู้ว่าควรใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ผมก็คำนวณว่า บ้านผมอยู่กัน 4 คน กินข้าวเดือนละ 1 ถัง 1 ปี ก็กิน 12 ถัง ผมก็ซื้อข้าวเปลือกจากเพื่อนในเครือข่ายมา 48 ถัง เอามาสีเองจะได้ข้าวครึ่งหนึ่งคือ 24 ถัง กินแค่ 12 ถังต่อปี ก็จะเหลืออีก 12 ถัง ก็เอาไปขายได้เงินโดยไม่ต้องไปทำนาแข่งกับเขา

พ้นวิกฤตด้วยตัวเอง
กว่าจะก้าวพ้นวิกฤตได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ครรชิต พูดถึงวิกฤตในสังคมไทยว่า นับวันก็มีแต่ปัญหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง 1.วิกฤตภัยพิบัติ เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม ดินถล่ม เพราะถางป่าปลูกพืชเศรษฐกิจกันหมด 2.วิกฤตโรคภัยไข้เจ็บ ปัจจุบันโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่รู้กี่โรค ซึ่งต่างชาติก็นำพันธุ์ไม้ของไทยไปทำยารักษา 3.วิกฤตเศรษฐกิจ ที่เกิดทั่วโลก อีกทั้งปี 2558 จะมีการเปิดการค้าเสรีขึ้น คนปลูกหอม พริก กระเทียม เพื่อธุรกิจจะได้รับผลกระทบหนัก แค่ตอนนี้มีการนำเข้ามันสำปะหลังจากกัมพูชา คนปลูกมันสำปะหลังตอนนี้ก็แย่แล้ว 4.วิกฤตความขัดแย้ง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งได้ เพราะถ้าเรามีทรัพยากรเป็นของตัวเองก็ไม่ต้องไปทะเลาะกับคนอื่น อีกทั้งยังเป็นมรดกให้กับลูกหลานได้ อย่างข้าราชการบำนาญ หากตายไปลูกหลานก็ไม่ได้บำนาญต่อ แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่ฯ วิบูลย์สร้างขึ้น ทุกอย่างก็จะตกเป็นมรดกมาสู่ลูกหลาน นี่คือหลักประกันและความมั่นคงที่แท้จริงของวนเกษตร

“สุดท้ายเราต้องพ้นวิกฤตด้วยตัวเอง ปัญหา คือ ทำอย่างไรที่เราจะทำเรื่องของตัวเอง เพราะที่ขัดแย้งกันขณะนี้เป็นเรื่องของคนอื่นทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องของตนเองเลย ส่วนเรื่องของตนเองไม่จัดการ” ครรชิต กล่าวทิ้งท้าย

กำลังโหลดความคิดเห็น