xs
xsm
sm
md
lg

สธ.อวดผลสำเร็จหลักประกันสุขภาพไทย ดูแลประชาชนได้เกือบ 100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ.เผยไทยจัดโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมประชาชนสูงเกือบ 100% พร้อมผลักดันวาระหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระโลก

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับรัฐมนตรีสาธารณสุข 6 ประเทศได้แก่ ประเทศมอนโดวา เคนยา แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ ไทย ในการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอวอร์ด ประจำปี 2555 ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กรุงเทพมหานคร ว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้หยิบยกเอาเรื่องของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้น มาพูดแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เท่าที่ฟังการดำเนินการโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศอื่นๆ ยังไม่สามารถให้การดูแลประชากรได้ครอบคลุม บางประเทศทำได้เพียงร้อยละ 20 บางประเทศได้ร้อยละ 30 หรือ 50 สำหรับประเทศไทย เรากล้าพูดได้ว่าครอบคลุมได้ร้อยละ 99.99

นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ประเทศต่างๆ ต้องการจะพัฒนาขยายการครอบคลุมของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และต้องการเห็นตัวอย่างรูปแบบของประเทศไทย โดยปัญหาอุปสรรคที่ประเทศอื่นๆประสบ 2 เรื่องใหญ่ ได้แก่ เรื่องงบประมาณ รัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณไปใช้ใน การนี้ได้อย่างเพียงพอ และปัญหาความครอบคลุม คือ แรงงานที่มีทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งยากที่จะนำเข้าสู่ระบบ ซึ่งประเทศไทยพร้อมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศอื่นๆ ในเรื่องของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการจัดศึกษาดูงาน หรือการจัดอบรม ประชุมวิจัยต่างๆ ในประเทศไทยด้วย

“เท่าที่ฟังในที่ประชุมต้องการจะผลักดันให้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระของโลก ซึ่งในนามประเทศไทย ถ้าส่วนใหญ่พร้อมที่จะผลักดัน ประเทศไทยก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้วาระหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระแห่งโลกในอนาคต” นพ.สุรวิทย์ กล่าว

นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับทิศทางทางการพัฒนาโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การรับมือสังคมผู้สูงอายุ จากการประเมินต่างๆ เห็นว่า ในอนาคตประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีปัญหาตามมาในเรื่องของการดูแลในเรื่องของโรคผู้สูงอายุ ปัญหาโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต มะเร็ง ซึ่งจะมากขึ้น 2.การบริหารพฤติกรรมของประชาชน ในเรื่องของการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้โรคต่างๆเหล่านี้รุนแรง หรือเพิ่มมากเกินไป ประการที่ 3 คือ การนำเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้าให้บริการประชาชน ซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีดังกล่าวมีความก้าวหน้ามาก คนไทยมุ่งหวังอยากที่จะใช้เทคโนโลยีในการตรวจรักษาที่ก้าวหน้า แต่ปัญหา คือ ค่าใช้จ่ายที่จะสูงมาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ที่จะต้องทำการประเมินว่าเราควรนำเทคโนโลยีด้านใดมาใช้จึงจะเหมาะสม โดยเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อชีวิต เราจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะสูงก็ตาม เพื่อให้ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพทั่วถึง เสมอภาค และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น