xs
xsm
sm
md
lg

“ถุงยางอนามัยสตรี” ทางเลือก...ผู้หญิงรู้จักป้องกันตนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย..จารยา บุญมาก

หลายคนคงเคยได้ยิน “ถุงยางอนามัยผู้หญิง” (Female Condom : FC) แม้จะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับถุงยางอนามัยของผู้ชาย แต่ถุงยางอนามัยผู้หญิงก็มีการผลิตมานานกว่า 20 ปีแล้ว

โดยทั่วไปการรณรงค์การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย จะเป็นการเชิญชวนให้ผู้ชายเป็นฝ่ายใส่ถุงยางอนามัย (Condom) แต่ไม่ค่อยรณรงค์ให้ผู้หญิงหันมาใช้ถุงยางอนามัยสตรีมากนัก นั้นอาจเพราะสังคมไทยมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งราคาที่แพงเกินไป และความยุ่งยากในการสวมใส่ เรื่องการผลักดันและส่งเสริมการใช้ถุงยางจึงได้เงียบหายไป
น.ส.ทฤษฎี สว่างยิ่ง, นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ,ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ เรียงตามลำดับจากซ้ายมาขวา
ในเวทีงานระดมสมองเรื่องทิศทางของนโยบายการให้บริการด้านถุงยางอนามัยผู้หญิงในประเทศไทย เป็นความร่วมมือของ กองทุนสหประชาชาติ ร่วมกับสำนักงานศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายสุขภาพและโอกาส มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) และแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยมหิดล มีการนำเรื่องนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง

นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้ถุงยางอนามัยหญิงไม่ค่อยแพร่หลาย ซึ่งมีใช้แค่ร้อยละ 1 ทั่วโลก เมื่อเทียบกับความนิยมใช้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย นั่นเป็นเพราะผู้ใช้รู้สึกว่าไม่คุ้นเคย แต่ตนเห็นว่าถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงก็เหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ลองใช้ครั้งแรกแล้วอาจจะไม่ชอบ ต้องทดลองใช้อย่างน้อย 3 ครั้ง หากยังไม่ชอบอีกจึงถือว่าอาจจะไม่ใช่รสนิยมของตัวเอง

“ถุงยางอนามัยของผู้หญิงมีคุณสมบัติที่ทนความร้อนได้ดี และมีขนาดเดียว คือ 17 เซนติเมตร ไม่ได้แบ่งแยกเป็นขนาดเหมือนถุงยางอนามัยผู้ชาย แต่เพศหญิงอาจไม่คุ้นเคย เพราะต้องสอดใส่ก็เกิดความกังวล อย่างไรก็ตาม แพทย์เชื่อว่า หากมีการลองใช้ประมาณ 3 ครั้งก็จะเกิดอาการคุ้นชินไปเอง” นพ.ทวีทรัพย์ อธิบาย
ถุงยางอนามัยสตรี
น.ส.ทฤษฎี สว่างยิ่ง ผู้จัดการเครือข่ายสุขภาพและโอกาส อธิบายเพิ่มว่า จากการที่เครือข่ายจัดการเครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON) ได้เริ่มสำรวจในเรื่องของความนิยมใช้ถุงยางอนามัยสตรี ในกลุ่มเป้าหมายอาทิ พนักงานขายบริการ พบ ว่า จุดแข็งของถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงจะช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรอง เพราะผู้หญิงเป็นคนใส่เอง ซึ่งไม่ได้ลดความสุขในการร่วมเพศแต่อย่างใด ที่สำคัญคือ ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นโรคเอดส์ เริม หรือหูด ได้อีกด้วย ขณะที่ห่วงของถุงยางด้านนอกยังป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงได้อีกด้วย ซึ่งไม่มีส่วนในการลดอารมณ์ความสุขจากการร่วมเพศได้แต่อย่างใด

ด้าน ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ สำนักงานศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการและสังคม ในฐานะผู้วิจัยโครงการทางเลือกเชิงนโยบายด้านถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง หากมีความต้องการใช้มากจะจัดหามาบริการโดยการแจก หรือขาย โดยได้ทำวิจัยกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการอบรมของเครือข่ายสุขภาพและโอกาส 6 กลุ่ม คือ 1.คู่สามี-ภรรยา 2.ผู้อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี 3.สาวประเภทสอง 4.ชายรักชาย 5.ผู้ขายบริการทางเพศ และ 6.ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ จำนวน 309 คน โดยจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มเป้าหมายเห็นด้วยกับการมีถุงยางอนามัยสตรีไว้ใช้ แต่ต้องมีการประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลายเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีแก่ประชาชน เพื่อให้ผู้หญิงมีทางเลือกในการป้องกันตนเองมากขึ้น ซึ่งหากเรื่องนี้ภาครัฐมีการผลักดันอย่างจริงจัง อย่างน้อยที่สุดฝ่ายหญิงก็มีทางเลือกเพิ่มเติมในการร่วมรักอย่างปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น