xs
xsm
sm
md
lg

เตือนระวัง “โรคระบบทางเดินหายใจ-ทางเดินอาหาร” สธ.พบป่วยไข้หวัดแล้วกว่า 5.6 หมื่นราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
สธ.เตือนระวังโรคหน้าหนาว 2 กลุ่มโรค “ระบบทางเดินหายใจ-ทางเดินอาหาร” พบประชาชน ป่วยแล้ว 5.6 หมื่นราย อาหารเป็นพิษ 9.4 หมื่น

วันนี้ (22 ม.ค.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากฤดูหนาวปีนี้พบว่าอากาศมีความเปลี่ยนแปลง แบบอากาศเย็นสลับอากาศร้อน กรมควบคุมโรคจึงมีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน เพราะอากาศที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว หากร่างกายปรับตัวไม่ทันอาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ต้องระมัดระวังการเจ็บป่วยเป็นพิเศษ และขอแนะนำประชาชนให้ระมัดระวัง 2 กลุ่มโรค ได้แก่ 1. โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม และโรคหัด เป็นต้น 2. โรคระบบทางเดินอาหารและน้ำ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจาระร่วงในเด็กเล็ก เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์โรคที่สำคัญของ 2 กลุ่มโรคดังกล่าว จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2554 พบผู้ป่วยจำนวน 56,133 ราย เสียชีวิต 7 ราย ซึ่งมีอัตราป่วยลดลงจากเดิมที่จะพบผู้ป่วยประมาณ 100,000 ราย แต่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะโรคนี้เกิดขึ้นมากในกลุ่มประชากรที่อาศัยในพื้นที่อากาศหนาวจัด โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด คือ 140 รายต่อแสนประชากร ส่วนโรคระบบทางเดินอาหารและน้ำ พบว่าสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในปี 2554 พบผู้ป่วยจำนวน 94,326 ราย เสียชีวิต 4 ราย พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราป่วย 206 รายต่อแสนประชากร รองลงมาคือ ภาคเหนือ อัตราป่วย 167 ต่อแสนประชากร

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อไปว่า สำหรับ 2 สิ่งที่ควรเตรียมพร้อมเสมอ คือ 1.เตรียมเครื่องกันหนาวให้พร้อม โดยเตรียมเสื้อผ้าและผ้าห่มกันหนาวที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว หากเป็นเครื่องกันหนาวมือสอง ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจจะมีความเสี่ยงติดเชื้อที่มา กับเสื้อผ้าดังกล่าว ทั้งจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ก่อนนำมาใช้ต้องซักและต้มในน้ำเดือดนาน 15-30 นาที เพราะการซักธรรมดาอย่างเดียวหรือตากแดดจัดๆ เป็นเวลานานไม่สามารถฆ่าเชื้อเหล่านี้ได้หมด หรืออาจแช่ด้วยน้ำยาซักผ้าขาว แล้วรีดด้วยความร้อนสูง โดยเฉพาะด้านในของเสื้อผ้า เพราะเชื้อราที่เป็นสาเหตุของกลากและเกลื้อน จะทนต่อสภาวะการทำความสะอาดตามปกติ และ 2. เตรียมตัวเองและรถยนต์ให้พร้อมก่อนเดินทาง เพราะในช่วงเช้าจะประสบ ปัญหาหมอกหนาลงจัดและควันไฟปกคลุม โดยเฉพาะพื้นที่บนภูเขาสูงทางภาคเหนือ และภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือที่ชาวบ้านชอบเผาตอซังข้าว พืชไร่ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วหรือหญ้าแห้ง ส่งผลให้ทัศนวิสัยไม่ดี อาจเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ เพราะฉะนั้น ก่อนเดินทางจะต้องเตรียมและตรวจสภาพของรถยนต์ให้พร้อม ศึกษาเส้นทางให้ดี อย่าขับขี่ด้วยความเร็วสูง และที่สำคัญต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มสุราทั้งก่อนและระหว่างการเดินทาง และไม่ควรจอดพักในบริเวณที่มีหมอกลงจัด

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ มักจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก มีน้ำมูกไหล อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 5-7 วัน ผู้ที่กำลังป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ห้ามออกกำลังกายหรือทำงานหนัก เนื่องจากอาจทำให้อาการทรุดลงจากการติดเชื้อลงที่ปอดได้ และหากมีอาการป่วยจากไข้หวัดใหญ่รุนแรง เช่น มีไข้สูงและไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วัน มีอาการไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หอบเหนื่อย ซึม หากเป็นเด็กจะร้องไห้งอแงมาก กินอาหารไม่ได้หรือกินได้น้อย อาเจียน ท้องเสีย ต้องรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที ส่วนโรคอาหารเป็นพิษ ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และอุจจาระร่วงหลังจากรับประทานอาหาร ถ้าพบอาการดังกล่าวให้ไปรีบไปพบแพทย์เช่นกัน

“ในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงนี้ ประชาชนควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยสวมเสื้อผ้าหนาๆ หรือเสื้อกันหนาว ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และไม่ควรใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน เป็นต้น อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ไม่เข้าไปในที่แออัด ส่วนเด็กเล็กผู้ปกครองต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และพาไปรับวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนดนัดแต่ละช่วงอายุ ที่สถานบริการใกล้บ้าน ถ้าเด็กมีอาการป่วยอยู่แล้วไม่ควรจะพาไปในที่แออัด เพราะอาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อและรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย และหากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร. 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร. 0-2590-3333” นพ.สุวรรณชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น