ภาคประชาชน ยื่นรายชื่อต่อรัฐสภากว่า 1 หมื่นรายชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชน หวังปรับกฎหมายป้องโฆษณาเกินจริง เชื่อหาก พ.ร.บ.ผ่านช่วยคุ้มครองประชาชนให้ใช้ยาอย่างปลอดภัย
วันนี้ (19 ม.ค.) ที่รัฐสภา เครือข่ายภาคประชาชน ได้แก่ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา, มูลนิธิเภสัชชนบท และเครือข่ายภาคี อาทิ กลุ่มศึกษาปัญหายา, หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ, ฯลฯ กว่า 20 คน เดินทางเข้ายื่นรายชื่อผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติยา (พ.ร.บ.) พ.ศ. ... จำนวน 10,565 รายชื่อ ต่อ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณาตราเป็นกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 142 และมาตรา 163
โดย ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ในฐานะตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับการบริโภคยาเป็นจำนวนมาก เช่น พบยาที่ไม่ปลอดภัยในท้องตลาด และยาราคาแพง หรือการมีโฆษณาส่งเสริมการขายยาที่เกินจริง แต่ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 เป็นกฎหมายควบคุมที่ไม่ได้รับการแก้ไขมานานถึง 45 ปี ทำให้ไม่ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบันและคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้เท่าที่ควร ดังนั้น ภาคประชาชน จึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชน ซึ่งได้มาจากการรวบรวมปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาของประเทศ ความเห็นจากกลุ่มผู้ป่วย และข้อมูลทางวิชาการของประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดระบบกฎหมายด้านยาและกลไกการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ และรองรับการเปลี่ยนแปลงของการเปิดตลาดเสรีทางการค้าทั้งในระบบพหุภาคีและทวิภาคี โดยร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชน มีเจตนารมณ์ 2 ประการ คือ 1) คุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับ เท่าทันกับปัญหาและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ และ 2) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในยามปกติและในภาวะคับขันเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยาและสุขภาพ
"ทั้งนี้ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชน ได้แก่ 1.การมีกลไกที่จะทำให้ราคายาเป็นธรรมต่อประชาชน ป้องกันการค้ากำไรเกินควร 2.กำหนดสิทธิของประชาชนที่จะรู้ชื่อสามัญทางยา ของยาที่ตนเองใช้ 3. คุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการด้านยาจากเภสัชกรอย่างแท้จริง ไม่ให้ผู้ไม่รู้มาสร้างความเสี่ยงกับประชาชนอีกต่อไป 4.กำหนดสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการชดเชยความเสียหายจากการใช้ยาโดยรวดเร็ว 5.มีกลไกจัดหายาจำเป็น เช่น ยากำพร้า ที่ไม่มีเอกชนสนใจทำการตลาด รวมทั้งการจัดหายาในภาวะวิกฤต ภัยพิบัติ 6.ปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยาของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง 7.มีกลไกในการกำกับดูแลการส่งเสริมการขายยาและการโฆษณาที่เหมาะสม และ 8.การใช้มาตรการทางปกครอง เป็นเครื่องมือใหม่ที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเหมาะสมกับสภาวการณ์ที่หลากหลาย” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว
ด้าน นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวว่า ในเบื้องต้นตนจะรับเรื่องไว้ แต่ทั้งนี้ จะต้องให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอร่าง จำนวน 10,565 คน ว่า ยังมีชีวิตหรือไม่ และเป็นผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งหรือเปล่า เมื่อดำเนินตามขั้นตอนของการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อสภาได้ ซึ่งจะใช่ระยะเวลาประมาณ 6-7 เดือน