นักท่องเที่ยวทนไม่ไหว ร้องผ่านสื่อ “วัดสวนพลู” รื้ออาคารโบราณสถาปัตยกรรมสมัย ร.7 ห่วงเอกลักษณ์ คุณค่าของสถาปัตยกรรมสูญหาย ด้าน กรมศิลปากร ระบุ กุฏิไม้โบราณ ในวัดอายุกว่า 70 ปี ไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แต่เคยได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อปี 45 จึงสมควรเป็นอาคารอนุรักษ์ วอนวัดใน กทม.จะรื้อถอนอาคาร ขอให้ตรวจสอบกับกรมศิลป์
นักท่องเที่ยวซึ่งไปเที่ยววัดสวนพลู เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร แจ้งผ่านสื่อว่า ทางวัดได้มีการรื้อกุฏิไม้โบราณ เกรงว่า เอกลักษณ์อาคารไม้ของวัดจะถูกรื้อถอนทั้งหมด ขอให้ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งเมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบภายในวัด พบว่า มีร่องรอยการรื้อถอนอาคารไม้โบราณบริเวณหลังพระอุโบสถจริง เหลือเพียงลานปูนโล่งๆ และซากก้อนอิฐของอาคารไม้หลังดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ภายในบริเวณวัดยังมีอาคารไม้โบราณทาสีเหลืองสวยงามเหลืออยู่ 5 หลัง พร้อมกับป้ายเชิญชวนพุทธศาสนิกชน ให้มาร่วมกันสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมาแทนของเดิม
ทั้งนี้ จากการสอบถามชาวบ้านใกล้วัด ชาวบ้านบอกว่า วัดได้ทำการรื้ออาคารไม้ดังกล่าวจริง แล้วนำไม้ไปขายให้แก่คนรับซื้อไม้ เนื่องจากเป็นอาคารไม้โบราณ ซึ่งมีไม้ดีๆ เป็นจำนวนมาก การกระทำดังกล่าว สร้างความรู้สึกที่ไม่ดีให้แก่ชาวบ้าน ตลอดจนผู้พบเห็น เพราะเป็นกุฏิเก่าที่เจ้าอาวาสรูปเดิมได้อนุรักษ์เอาไว้ เห็นว่า เป็นอาคารเก่าแก่มีสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ควรค่าแก่การรักษาไว้ พอเปลี่ยนเจ้าอาวาสใหม่ มีการรื้อถอดอาคารไม้ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า จะปรับเปลี่ยน พัฒนาวัดให้มีความเจริญ จึงไม่มีใครกล้าเข้าไปยุ่งอะไรกับการตัดสินใจของเจ้าอาวาสรูปใหม่ เพียงแต่บ่นกันว่า เสียดายอาคารไม้เหล่านั้น
ด้านนายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผอ.สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวว่า อาคารในวัดสวนพลูที่เป็นอาคารไม้สัก ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้กับกรมศิลปากร แต่เมื่อพิจารณาจากรูปทรงสถาปัตยกรรมแล้ว ไม่น่าจะมีอายุต่ำกว่า 70 ปี กลุ่มอาคารเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นอาคารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เอาไว้ หากทางวัดรื้อถอนกุฏิออกไปจะได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นต่อหรือไม่ เพราะวัดสวนพลูได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทยจากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อปี พ.ศ.2545
ผอ.สำนักโบราณคดี แสดงความเห็นว่า หมู่กุฎิภายในวัดสวนพลู จะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน แต่ก็เป็นอาคารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เนื่องจากเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากร ได้ทำหนังสือแจ้งกับทางเจ้าอาวาส รวมถึงวัดที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ถ้าจะมีการรื้อถอนอาคาร หรือสถาปัตยกรรมภายในวัด หากไม่แน่ใจว่า เป็นโบราณสถาน หรือมีสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญกับประเทศ ควรสอบถามมายังกรมศิลปากร ก่อนดำเนินการรื้อหรือปรับปรุง หากทุบทิ้งหรือรื้อถอนไปแล้ว ถ้าพบว่า เป็นโบราณสถาน จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ได้