แพทยสภา เผย ยอดร้องเรียนการกระทำผิดจริยธรรมแพทย์กว่า 200 กรณี ขณะผลพิจารณาความผิดตัดสินถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 1 ราย พักใช้ใบอนุญาต 3 ราย ตักเตือน 15 ราย ย้ำ คกก.แพทยสภาพิจารณาอย่างเป็นธรรม วอนแพทย์ -ผู้ป่วยเจรจากันก่อนตัดสินใจฟ้องร้อง หวังยุติข้อพิพาทด้วยความเข้าใจ
ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวถึงสถานการณ์การร้องเรียนกรณีความผิดทางจริยธรรมของแพทย์ ว่า ในระหว่างเดือน ต.ค.2553 ถึง ก.ย. 2554 พบมีผู้ป่วยและญาติร้องเรียนกรณีความผิดจริยธรรมของแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ (คกก.) แพทยสภา ทั้งหมด 202 กรณี แบ่งเป็นเรื่องร้องเรียนแบบมูลความผิด 74 กรณี และไม่มีมูล 104 กรณี ซึ่งหากพบว่าเป็นการร้องเรียนที่ไม่มีมูล เช่น เป็นการยืนยันแค่พยานปาก ทาง คกก.แพทยสภา ก็จะส่งเรื่องเพื่อชี้แจงว่า ไม่พบมูลความผิด จึงไม่สามรรถดำเนินการได้ ส่วนขั้นตอนทางกฎหมายอื่น เช่น ผู้ป่วยหรือญาติจะดำเนินการทางชั้นศาล ก็แล้วแต่การตัดสินใจ เนื่องจากแพทยสภามีหน้าที่ในการพิจารณาจริยธรรม ตาม พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เท่านั้น ขณะที่จำนวนการฟ้องร้องในชั้นศาลเกี่ยวกับความผิดพลาดของแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งแต่ปี 2539-2554 พบว่าแพทย์ถูกฟ้องร้องในคดีแพ่งจำนวน 162 คดี และคดีอาญาจำนวน 20 คดี โดยส่วนมากเป็นการร้องเรียนกรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ
นายกแพทยสภา กล่าวว่า สำหรับช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมา ทางแพทยสภาได้มีมติพิจารณาตามเรื่องร้องเรียนกรณีแพทย์ที่ทำผิดจริยธรรม โดยมีการลงโทษถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ 1 ราย พักใบอนุญาต 3 ราย โดยขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างขั้นตอนของการพิจารณาจากสภานายกพิเศษเพื่อดูว่ามีข้อโต้แย้งใดๆ หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีแพทย์ที่มีความผิดที่ไม่รุนแรง ซึ่งแพทยสภาได้ดำเนินการว่ากล่าวตักเตือนไปแล้วจำนวน 15 ราย
ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กล่าวต่อว่า ในแต่ละคดีที่ผ่านการพิจารณาของแพทยสภานั้นจะใช้พิจารณาทุกกระบวนการกระทั่งแล้วเสร็จประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยแต่ละกรณีจะมีขั้นตอนการพิจารณาที่แตกต่างกัน ก็ต้องใช้เวลาประสานงานกับทางราชวิทยาลัยต่างๆ เพื่อพิจารณามูลความผิด ซึ่งขอย้ำว่า ในปี 2555 จะพยายามเร่งรัดมาตรการการประสานงานต่างๆ เพื่อให้ผลการพิจารณาแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ทั้งขั้นตอนการพิจารณาในขั้นของราชวิทยาลัย คณะอนุกรรมการจริยธรรมแพทยสภา และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองจริยธรรม
“ขอย้ำว่า จะทำหน้าที่ในการพิจารณาทุกเรื่องร้องเรียนอย่างเป็นธรรม และยังปลูกฝังให้บุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยเสมือนญาติ ซึ่งต้องทำโดยหน้าที่และจิตสำนึกที่ดี รักษาและช่วยชีวิตทุกคนด้วยความตั้งใจจริง ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติอันดีของแพทย์ทั่วไปอยู่แล้ว ดังนั้นเชื่อว่า ความผิดพลาดหลายกรณีคงไม่ได้เกิดจากการตั้งใจกระทำผิดของแพทย์เสมอไป ซึ่งหากเป็นไปได้กรณีผิดพลาดเล็กน้อย อยากให้ผู้ป่วยและญาติเจรจากันก่อนตัดสินใจฟ้องร้อง เนื่องจากหากเรื่องถึงชั้นศาลจะใช้เวลาในการตัดสินนาน เพราะกระบวนการพิจารณาคดีแพทย์กับผู้ป่วยนั้นมีขั้นตอนซับซ้อน ดังนั้น หากรู้จักไกล่เกลี่ยก็จะเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กล่าว