xs
xsm
sm
md
lg

4 องค์กรจับมือเข้มจริยธรรมการเมือง ชี้หนีไม่พ้นเพิกถอนสิทธิ์ แม้สิ้นวาระไปก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน-วุฒิสภา-ป.ป.ช.-สพม.จับมือคุมเข้มจริยธรรมนักการเมือง ย้ำ ผู้ถูกร้องเรียน หนีไม่พ้นถูกเพิกสิทธิ์ 5 ปี แม้จะสิ้นวาระการดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปก่อนหรือลาออก ด้านผู้ตรวจฯ ยอมรับผลสอบจริยธรรม “จตุพร” ไม่คืบ เหตุสภาเก่าอ้างขาดผู้นำฝ่ายค้านเป็นองค์ประกอบคณะกรรมการ

วันนี้ (17 ต.ค.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานวุฒิสภา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เรื่องความร่วมมือในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีข้อตกลงความร่วมมือ ดังนี้ 1.ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานด้านส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมให้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2.ร่วมกันพิจารณากำหนดแผนงาน แนวทางในการปฏิบัติ ตลอดจนการกำหนดกิจกรรม ในการส่งเสริมด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3.ส่งเสริม และสนับสนุนการเป็นเครือข่ายร่วมกันในการดำเนินงานด้านสงเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ การฝึกอบรม รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน 4.แลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ และความคิดเห็นด้านคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ 5.ให้แต่ละองค์กรมอบหมายเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการประสานงานการดำเนินงาน ด้านส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนี้ เพื่อให้บทบาทหน้าที่ขององค์กรในการดำเนินการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงให้มีผลถือปฎิบัติตามบันทึกความร่วมมือนี้ นับแต่วันที่ลงนามเป็นต้นไป โดยมี นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.ธีรเดช มีเพีชร ประธานวุฒิสภา นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.และ นายสุจิต บุญบงการ ประธาน สพม.เป็นตัวแทนของแต่ละหน่วยงานร่วมลงนาม

นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า การทำเอ็มโอยูร่วมกัน 4 องค์กรครั้งนี้ เป็นการบูรณาการเพื่อประสานการทำงานในเครือข่ายด้านจริยธรรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ มุ่งเน้นการส่งเสริมจริยธรรม เนื่องจากพบว่าที่ผ่านมาพฤติกรรมของนักการเมืองได้ถูกตำหนิอยู่บ่อยครั้ง หากภาครัฐและภาคประชาชนมีคุณธรรม ตนเชื่อว่า ปัญหาต่างๆ ด้านจริยธรรมก็จะลดน้อยลงไปได้มาก ซึ่งอาจจะลดลงไม่หมด แต่ปัญหาก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารบ้านเมือง ที่ผ่านมา เรามีปัญหามากมาย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการแตกความสามัคคี การทุจริตคอร์รัปชัน หาก 4 หน่วยงานต่างคนต่างทำก็จะทำให้ไม่เป็นเอกภาพที่ดี อีกทั้งเพื่อเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินด้วย

นายปราโมทย์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การถอดถอนนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น เราได้วางบรรทัดฐานว่า หากผู้ที่ถูกร้องเรียน หมดวาระการดำรงตำแหน่ง หรือลาออกจากตำแหน่งในช่วงระหว่างการดำเนินการตรวจสอบ กระบวนการตรวจสอบจะไม่ยุติลงจนกว่าจะถึงที่สุด หากพบว่ามีความผิดจริยธรรมร้ายแรงก็จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี เพราะบางคนกลัวถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งจึงลาออกก่อนแล้วค่อยกลับเข้ามาใหม่ เมื่อถามถึงความคืบหน้าการตรวจสอบจริยธรรม นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม.ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเมื่อปี 53 นายปราโมทย์ กล่าวว่า หลังจากที่ผู้ตรวจการฯได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.53 เพื่อขอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงตรวจสอบจริยธรรมของนายจตุพรแล้วก็ได้ติดตามผลการดำเนินการมาโดยตลอด แต่เนื่องจากในขณะนั้นคณะกรรมการจริยธรรมของสภา ไม่มีผู้นำฝ่ายค้านจึงได้มีการตีความว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการ ที่ไม่มีผู้นำฝ่ายค้านถ้าทำหน้าที่พิจารณา และมีมติในกรณีนี้ไปก็อาจเป็นโมฆะได้ แต่ตอนนี้มีสภาฯใหม่และมีผู้นำฝ่ายค้านแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินในฐานะเจ้าของเรื่องจึงได้มีหนังสือไปยังประธานสภา เพื่อยืนยันให้มีการดำเนินการต่อ ซึ่งถ้าเราเห็นว่า การสอบสวนมีความไม่เป็นธรรม รัฐธรรมนูญมาตรา 280 ก็บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถไต่สวนได้เอง และเปิดเผยผลการไต่สวนต่อสาธารณะได้ แต่ตอนนี้มีสภาใหม่จึงขอดูการดำเนินการของสภาใหม่ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น