xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมน้อมเกล้าฯ ถวายพระสมัญญา “บิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย” พระบรมราชชนก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศธ.เตรียมน้อมเกล้าฯ ถวายพระสมัญญา “บิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย” พระบรมราชชนก เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 120 ปีแห่งวันพระราชสมภพ 1 ม.ค.55
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
วันนี้ (28 ธ.ค.) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ศธ.เตรียมเสนอขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระสมัญญา “บิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย” แด่ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นแก่การอุดมศึกษาของไทย เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 120 ปี แห่งวันพระราชสมภพ (1 ม.ค. 2435) ในวันที่ 1 ม.ค.2555

สำหรับการน้อมเกล้าถวายพระสมัญญานี้ เป็นข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และได้นำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ศธ.เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของ สกอ.ในการดำเนินการน้อมเกล้าฯ เพื่อขอพระราชทานถวายพระสมัญญา “บิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย” แด่ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และก่อนหน้านี้ ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) และคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ให้ความเห็นชอบแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ศธ.ต้องนำเรื่องนี้เสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน โดยอาจเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในการประชุมนัดแรกหลังปีใหม่

ทั้งนี้ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ทรงดำรงพระชนม์ชีพอันเป็นแบบอย่างของผู้ใฝ่ในการศึกษา ทรงเป็นหลักเริ่มต้นในการเจรจาความร่วมมือกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ นับเป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยให้การอุดมศึกษาของไทยที่เริ่มก่อตั้งมาก่อนหน้านั้น ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน โรงเรียนราชแพทยาลัย ได้มีความเข้มแข็งในเชิงวิชาการ และมีความเป็นมาตรฐานในฐานะของมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพระดับสากล พระองค์ยังทรงเกี่ยวข้องกับวงการแพทย์ และวงการศึกษา รวมทั้งได้ประทานทรัพย์และทุนการศึกษาให้แก่วงการศึกษาเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเปี่ยมล้นด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู ทรงแสดงให้เห็นถึงหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทรงดำริว่า “การศึกษาเป็นงานที่มีคนเป็นหัวใจ” ต้องเน้นคุณค่าของความเป็นครู ยึดคนเป็นหลัก โดยทรงมีความลึกซึ้งในปรัชญา และวิธีจัดการศึกษามหาวิทยาลัยในระดับสากล ทรงวางรูปแบบการบริหารจัดการในลักษณะที่เน้นการมีส่วนร่วม รวมทั้งได้นำเสนอหลักการ “ธรรมาภิบาล” ในการบริหารอุดมศึกษา และทรงมีความลึกซึ้งในงานวิจัย และการนำผลการวิจัยไปสู่การบริหารจัดการศึกษา

อย่างไรก็ตาม การถวายสมัญญานาม มิได้ขัดกับสมัญญานามด้านการศึกษาที่เคยมีผู้ถวายแด่พระองค์ ไม่ว่าจะเป็น “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนใหม่” “องค์บิดาแห่งการสาธารณสุขไทย” “บุคคลดีเด่นของโลกของยูเนสโก” แต่เป็นการเสริมเติมเต็มให้สมบูรณ์แบบ เพราะทั้งวิชาชีพแพทย์ และนักสาธารณสุขนั้น ล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ของวงการอุดมศึกษาของไทยอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น