xs
xsm
sm
md
lg

“นำยุทธ” ติง ทปอ.ไม่หารือเรื่องเลื่อนเปิดเทอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“นำยุทธ” ติง ทปอ.ไม่หารือเรื่องเลื่อนเปิดเทอม ชี้ ควรออกเป็นเกณฑ์ระดับชาติโดย ศธ.หรือ สกอ.กำหนดไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำ ด้าน “อำนวย” เชื่อจะเกิดปัญหาตามมา เพราะเด็กอาจจะใช้ช่วงเวลาที่ว่างเกือบปีไปเล่นเกม หรือเที่ยวเตร่จนละทิ้งการเรียน เตือนทุกหน่วยงานควรเตรียมการรับมือ
           

ศ.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวถึงมติที่ประชุม ทปอ.ให้มหาวิทยาลัยรัฐ 27 แห่งเลื่อนเปิดเทอมให้ตรงกับสากลภายในปีการศึกษา 2557 ว่า ส่วนตัวมองว่าการเลื่อนเปิดเทอมให้ตรงกับกลุ่มประเทศอาเซียน หรือสากลนั้น ควรจะต้องมาร่วมกันกำหนดให้เป็นหลักเกณฑ์ระดับชาติที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่ใช่กำหนดขึ้นโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ขณะเดียวกัน ส่วนของ ทปอ.นั้น จะกำหนดอะไรก็ตามควรจะมีการหารือกับสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะหากทำเช่นนี้อาจทำให้ต่างชาติมองได้ว่า ประเทศไทยมีหลายระบบ  ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองและนักศึกษาจะเกิดความสับสนด้วย

ด้าน นายอำนวย สุนทรโชติ ประธานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ กล่าวว่า การเลื่อนเปิดเทอมของมหาวิทยาลัยตามมติ ทปอ.ตนเชื่อว่า จะมีปัญหาตามมาแน่นอน ซึ่งทาง ทปอ.ควรเตรียมการแก้ไขไว้ เนื่องจากกระบวนการรับนิสิต นักศึกษา เริ่มตั้งแต่กำหนดการรับตรงของมหาวิทยาลัย ซึ่งปกติจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนธันวาคม ต่อจากนั้นก็จะเป็นกระบวนการการรับนิสิต นักศึกษา ผ่านระบบแอดมิชชัน หรือ แอดมิชชันกลางที่จะเริ่มจัดสอบในเดือนมีนาคมของปีถัดไป แต่เมื่อเลื่อนเปิดเทอมจากเดือนมิถุนายนออกไปเดือนกันยายนนั้น เด็กมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะมีช่วงเวลาที่ว่างยาวไปเกือบปี โดยเฉพาะเด็กที่เข้าศึกษาผ่านระบบแอดมิชชันกลางจะมีเวลาว่างนานถึง 6 เดือน ซึ่งช่องว่างของเวลาที่เกิดขึ้นนั้นจะทำให้เด็กไปใช้เวลากับเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน เช่น เล่นเกม หรือเที่ยวเตร่  จนหันไปยึดติดกับความสบาย ความสนุกสนาน จนลืมที่จะใส่ใจต่อการเรียนและละทิ้งการเรียนในที่สุด
               
เพราะฉะนั้น หากเลื่อนเปิดเทอมผู้เกี่ยวข้องควรเตรียมการรับมือ และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วย ที่สำคัญเมื่อกำหนดเปิดเทอมเลื่อนออกไปมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องแข่งกันเร่งรับนักศึกษาอีกต่อไป และควรรับเด็กที่จบ ม.6 เข้าเรียนในทุกโครงการเพื่อป้องกันปัญหาการเร่งเรียน การกวดวิชาที่ไม่จำเป็นเพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเด็กที่ยากจนและเด็กที่มีฐานะ และเพื่อคุณภาพการศึกษาของชาติ

นายชินภัทร  ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่อง ที่ รมว.ศึกษาธิการ ต้องมีนโยบายออกมาในภาพรวม ทปอ.เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งหากตัดสินใจอะไร ก็ไม่จำเป็นที่หน่วยงานอื่นจะต้องทำตาม ซึ่งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการกศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะจุดหลักของ สพฐ.คือ ช่วงระหว่างรอยต่อจาก ม.6 เข้าสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งการเลื่อนเปิดเทอมของ ทปอ.เป็นการขยับเวลาออกไป จึงไม่กระทบกับการสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อ และการจบการศึกษาของนักเรียน แต่ที่จะเป็นปัญหา คือ เด็กจะมีเวลาว่างระหว่างที่รอเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยมากขึ้น ดังนั้น อาจจะต้องไปคิดว่าช่วงเวลาดังกล่าวจะทำอย่างไรให้เด็กใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์  
 
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า ถือเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่เราจะมาทบทวนช่วงเวลา การเปิด-ปิด ภาคเรียน เพราะมีเรื่องของปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งกระทบทำให้โรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทอมออกไป  แต่หากเราเลื่อนเวลาเปิดเทอมออกไปได้ เพื่อหนีช่วงวิกฤตก็จะทำให้นักเรียนไม่ต้องลำบาก และโรงเรียนไม่ต้องมาสอนชดเชยเพิ่มอีกด้วย ขณะเดียวกัน ก็จะต้องนำปัจจัยอื่น ๆ มาพิจารณาประกอบกันด้วย เช่น ฤดูกาล หรือเทศกาลต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น