แพทย์ชี้ เหตุสุนัขดุร้าย ตัดสินว่าเป็นบ้าเสมอไม่ได้ แจงอารมณ์ของสัตว์เลี้ยงมีหลายแง่ แนะเข้าใจเลี้ยงดู ป้องกันโรคทั้งสัตว์และคน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นักประสาทวิทยาจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์การที่หลายพื้นที่พบคนถูกสุนัขกัดในขณะนี้ ว่า การถูกสุนัขกัดในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องที่พิสูจน์หาสาเหตุได้ยาก บางคนมีการคาดการณ์ได้ว่า เป็นเพราะสุนัขบ้า หรืออารมณ์เครียด จากเหตุการณ์ต่างๆ แต่ในความจริงนั้นไม่มีใครไปรับรู้จิตใจ หรือความรู้สึกนึกคิดของสุนัขได้ ว่า กำลังคิดหรือกังวลอะไร เพราะในทางศาสตร์ทั่วไปนั้นไม่มีการศึกษาเฉพาะทางในเรื่องจิตใจของสัตว์เลี้ยงที่ชัดเจน ดังนั้น การคาดเดาสาเหตุที่ถูกสุนัขกัดนั้นก็เป็นไปได้หลายปัจจัย เช่น สุนัขบางตัวถูกเลี้ยงมาอย่างดีแบบทะนุถนอม แต่บางอารมณ์อาจโดนรังแก หรือโดนแย่งอาหารจากตัวอื่นก็อาจมีนิสัยที่หงุดหงิดบ้าง ดังนั้นหากเจอใครแปลกหน้า หรือแม้แต่เจอเจ้าของก็อาจดุร้ายจนทำให้ทำร้ายร่างกายคนโดยไม่รู้ตัว ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะเป็นพันธุ์ใด หรือจากไหน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า ช่วง 1 ปี ที่ผ่านมานั้น ทางการแพทย์พบว่า เชื้อโรคจากสัตว์เลี้ยงสู่คนเริ่มรุนแรงขึ้น ได้แก่ เชื้อ Staphycoccus ,plaque,chagas disease,catscatch disease , pasteurellosis,rabites,bartonella henselae, ฯลฯ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียในสัตว์เลี้ยงที่มีในลิ้น น้ำลาย ปาก ฟัน อาจเป็นเชื้อที่ไม่อันตรายต่อสุนัข แต่อันตรายกับคน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่า มีผู้ป่วยที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจอักเสบซึ่งแพทย์พบว่า ส่วนหนึ่งมีเชื้อแบคทีเรียจากสัตว์สู่คน แต่ที่อันตรายคือ แพทย์ที่รักษาคนจะไม่สามารถหายาและวิธีการรักษาได้ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตง่ายขึ้น
“ทั้งนี้ สำหรับใครที่เป็นคนรักสัตว์ถึงขั้นนำไปเลี้ยงในห้องนอน และชอบจูบปาก หรือสัมผัสน้ำลาย เหมือนกับคน แนะนำว่าควรมีการเลี้ยงดูให้คล้ายคนที่สุด คือ ต้องรักษาและทะนุถนอมให้กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อโรคจะดีที่สุด เพราะถือเป็นการป้องกันตัวเองด้วย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว