สปสช.เตรียมส่งหนังสือชี้แจงประเด็น สตง.ตรวจสอบกรณีบริหารงบฯไม่เหมาะสม
หลังจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบประเมินผลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในเรื่องการบริหารกองทุนว่า มีความไม่เหมาะสมนั้น ล่าสุด นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.พร้อมด้วย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. ร่วมแถลงข่าว “ตอบทุกข้อสงสัย...กรณีผลตรวจสอบ สตง...”
โดย นพ.วินัย กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องมีการชี้แจงต่อ สตง.ทั้งตัวเลขาธิการ สปสช.และรัฐมนตรี สธ.ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ด้วย โดยขณะนี้ได้ทำหนังสือข้อเท็จจริงและคำชี้แจงต่อรายงานการตรวจสอบประเมินผล สปสช.ตามรายงานของ สตง.ลงวันที่ 27 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะส่งไปยัง สตง.ให้พิจารณาในวันที่ 16 ธันวาคม 2554 ซึ่งการชี้แจงดังกล่าวจะแบ่งเป็นในส่วนของเลขาธิการ สปสช.และในส่วนของรัฐมนตรี สธ.
นพ.วินัย กล่าวว่า ประเด็นการชี้แจงของรัฐมนตรี สธ.เกี่ยวข้องในเรื่องค่าเบี้ยประชุมของคณะอนุกรรมการตรวจสอบ โดยในหนังสือของ สตง.ระบุว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดให้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของอัตราเบี้ยประชุมของกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งเฉลี่ยตั้งแต่ 6,000-12,000 บาท โดย สตง.ระบุว่า บอร์ด สปสช.พิจารณาเกินโดยให้อนุกรรมการตรวจสอบในอัตราเดือนละ 16,000 บาท ส่วนประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบได้ถึงเดือนละ 20,000 บาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรี สธ.ในฐานะประธาน บอร์ด สปสช.โดยรัฐมนตรี สธ.ได้มอบหมายให้ สปสช.ชี้แจงแทน และจะลงนามกำกับ ซึ่งการชี้แจงนั้น ได้ทำหนังสือแจงเหตุผล ว่า ในส่วนของคณะอนุกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารเงิน และการดำเนินงานของสปสช.ทั่วประเทศ และต้องรายงานผลต่อบอร์ด สปสช.ทุก 3 เดือน การทำงานเหมือนกึ่งเต็มเวลา ไม่ใช่ประชุมเป็นรายเดือนเท่านั้น จึงคิดในอัตราเหมาจ่ายรายเดือนแทน โดยรวมการทำงานทุกอย่าง ไม่ใช่แค่เบี้ยประชุมเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของเงินเดือนเลขาธิการ สปสช.จะชี้แจงอย่างไร นพ.วินัย กล่าวว่า มีการชี้แจงเช่นกัน เนื่องจากเป็นมติของบอร์ด สปสช.โดยพิจารณาตามการทำงาน ตามภารกิจงาน รวมไปถึงผลการประเมิน อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ เข้าใจว่า สปสช.เป็นหน่วยงานระดับใหญ่ ดูแลเงินกองทุนมหาศาล ทำให้สังคมจับตามอง ซึ่งภาพลักษณ์จะเป็นอย่างไรอยู่ที่สื่อมวลชนในการนำเสนอ โดยตนก็ชี้แจงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
ด้าน นพ.ประทีป กล่าวว่า ต้องเข้าใจก่อนว่า สปสช.เป็นหน่วยงานรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี สธ.ตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยมีบอร์ด สปสช.เป็นองค์กรกำหนดนโยบาย และควบคุมการบริหารงาน และเนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้จัดให้ สปสช.เป็นองค์การมหาชน จึงมีกฎหมายแยกส่วนเฉพาะ เพื่อการทำงานที่คล่องตัวขึ้น ดังนั้น สรุปได้ว่า ผลการตรวจสอบดังกล่าวอาจเกิดจากความเข้าใจในการใช้กฎหมายที่ต่างกัน กล่าวคือ การตรวจสอบครั้งนี้ใช้กฎหมาย มติ ครม.หรือกฎระเบียบของส่วนราชการ เป็นพื้นฐานการตรวจสอบ ซึ่งก็ถูกต้อง เพียงแต่พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ บัญญัติให้ บอร์ด สปสช.มีอำนาจหน้าที่กำหนัดหลักเกณฑ์การบริหารงบกองทุน และการบริหารจัดการภายในของ สปสช.รวมทั้งการที่ สปสช.เป็นองค์การมหาชน ทำให้มีระบบงานและวัฒนธรรมการปฏิบัติที่แตกต่างจากหน่วยงานราชการทั่วไป