“นิมิตร์” จ่อเข้ายื่นหนังสือคัดค้านการแต่งตั้ง “นพ.ประดิษฐ์” ลงจากตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ ในบอร์ด สปสช.แจงหาก รมว.สธ.และที่ประชุมยังเลือกเช่นเดิม คงต้องพึ่งหาฝ่ายกฎหมายช่วยตัดสิน
จากกรณีที่มีการเลือกคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุม บอร์ด สปสช.ซึ่งมี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานได้สรุปว่าจะมีการเสนอชื่อ นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงณ์ ให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งปราศจากการเข้าร่วมประชุมของภาคประชาชนนั้น
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ในการประชุมบอร์ด วันที่ 6 ธ.ค. 2554 ตนจะเข้าร่วมประชุมตามปกติ แต่จะนำหนังสือคัดค้านการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าเสนอต่อที่ประชุมด้วย โดยเหตุผลของการคัดค้าน คือ การประชุมเพื่อคัดเลือกกรรมการดังกล่าวนั้นไม่ครบองค์ประกอบ โดยหากที่ประชุมยังยืนกรานจะเสนอชื่อ นพ.ประดิษฐ์ เข้าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ก็คงต้องอาศัยฝ่ายกฎหมายเพื่อมาเป็นคนกลางในการตัดสินและพิจารณา เพราะถึงอย่างไรก็ยังเชื่อว่า ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ ควรที่จะมีความเหมาะสมมากกว่านี้ ที่สำคัญ การเลือกที่ผ่านไม่ถูกหลักกฎหมาย ซึ่งการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่ถูกต้องจำเป็นต้องครบองค์ประกอบตามาตรา 17 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545
“ในกรณีเดียวกัน ในสมัย คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีต รมว.สธ.เคยมีการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ แต่คุณหญิง สุดารัตน์ ไม่เข้าร่วมประชุม และมีมติไม่ยอมรับการเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการเลือกเช่นกัน โดยให้เห็นผลว่า องค์ประกอบไม่ครบ ฉะนั้น การที่กลุ่มเอ็นจีโอ ไม่เข้าร่วมประชุม ถือเป็นการทำหน้าที่อย่างหนึ่ง เนื่องจากการเสนอชื่อดังกล่าวไม่เหมาะสม และหากจะพิจารณาผู้ดำรงตำแหน่งบอร์ดครั้งนี้ ถือว่าน่าหนักใจ และเป็นห่วง เพราะหลายคนที่ได้คัดเลือกมา มีแนวโน้มมีทัศนคติที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นผู้ที่เคยแต่งชุดดำคัดค้านการทำหลักประกันสุขภาพ ว่า เป็นการทำลายระบบของประเทศ ทำให้คนใช้ยาพร่ำเพรื่อ หากมีคนที่มีแนวคิดเช่นนี้ จะทำงานเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ได้อย่างไร” นายนิมิตร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุผลที่คัดค้าน เคยทราบที่มาและประวัติ ของ นพ.ประดิษฐ์ มาก่อนหรือไม่ นายนิมิตร์ กล่าวว่า เข้าใจว่า คงเป็นนายทุนพรรค ที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตนยอมรับว่า เรื่องนี้น่าหนักใจมากกับการตัดสินใจของที่ประชุม ที่ตัดสินใจจะเสนอชื่อกรรมการเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ทั้งๆ ที่ยังไม่ครบองค์ประกอบ
อนึ่ง การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 7 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านประกันสุขภาพ การแพทย์และสาธารณสุข การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก การเงินการคลัง กฎหมายและสังคมศาสตร์ ด้านละหนึ่งคน ซึ่งตนยังยืนยันว่า ภญ.สำลี ใจดี ยังเหมาะสมอยู่
สำหรับกรรมการที่ไม่เข้าร่วมนั้น ประกอบด้วย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุ นายนิมิตร เทียนอุดม ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้ติดเชื้อเอดส์ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสตรี นางสุนทรี เซ่งกิ่ง ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านแรงงาน นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ผู้แทนองค์กรด้านคนพิการและจิตเวช รศ.ธิดา นิงสานนท์ ผู้แทนสภาเภสัชกรรม นายวีรวัฒน์ ค้าขาย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น และ นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้แทน อบจ.