เอ็นจีโอ เบี้ยวการประชุมซ้ำ “วิทยา” เมิน ลั่นทุกอย่างยังเดินต่อ เผย ที่ประชุมเลือก “นพ.ประดิษฐ์” เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เตรียมเข้า ครม.พิจารณา หวังเดินหน้าระบบหลักประกัน
จากกรณีการประชุมคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) แทน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่ง นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอชื่อ “นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์” เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย แต่ปรากฏว่า การประชุมล่ม เนื่องจากคณะกรรมการสัดส่วนเอ็นจีโอไม่เข้าร่วมถึง 5 คนจนต้องเลื่อนการประชุมมาเป็นวันที่ 21 พ.ย.นั้น
ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว นายวิทยา กล่าวภายหลังการประชุม ว่า การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 15 คน จากทั้งหมด 23 คน ที่มีสิทธิ์ในการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งถือเกินกึ่งหนึ่งขององค์ประชุมตามมาตรา 17 ที่ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม แสดงว่า การประชุมครั้งนี้สามารถรับรองได้ และที่ประชุมก็ลงมติรับรองชื่อ “นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์” ในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิด้านแพทย์แผนไทย ขณะที่คณะกรรมการในสัดส่วนภาคประชาชนที่ไม่เข้าร่วมการประชุมนั้น ตนไม่ทราบเหตุผลว่า เพราะอะไร เนื่องจากเมื่อคืนวันที่ 20 พ.ย.นายนิมิตร เทียนอุดม กรรมการ บอร์ด สปสช.สัดส่วนภาคประชาชน ได้โทรศัพท์คุยกับตนว่าจะเข้าร่วม แต่พอการประชุมครั้งนี้กลับไม่เข้าร่วม ส่วน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ทราบว่า เดินทางไปประเทศเกาหลี
นายวิทยา กล่าวด้วยว่า มั่นใจว่า การที่กลุ่มภาคประชาชนไม่เข้าร่วมครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับการปฏิเสธ นพ.ประดิษฐ์ ซึ่งตนเชื่อว่าบอร์ดเสียงส่วนใหญ่จะสามารถทำหน้าที่บริหาร ที่เป็นประโยชน์แก่หลักประกันสุขภาพได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ จะนำรายชื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ มีการคัดค้านโดยชูมาตรา 13 ที่ระบุว่าด้วยองค์ประกอบของคณะกรรมการ ต้องมีทั้งรัฐมนตรี สธ.ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ รวมไปถึงภาคเอ็นจีโอ ครบทั้งหมด ไม่เช่นนั้นคัดเลือกไม่ได้ นายวิทยา กล่าวว่า ตนในฐานะประธานคิดว่าการประชุมครั้งนี้ มีองค์ประชุมเกินกึ่งหนึ่งตามกฎหมายกำหนด ไม่เกี่ยวกับองค์ประกอบก็เพียงพอ และสามารถรับรองการประชุมได้
ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย บอร์ด สปสช.การใช้มาตรา 17 ไม่ได้ เพราะมาตรานี้ใช้บังคับในกรณีการประชุมคณะกรรมการทั่วไป แต่ไม่เกี่ยวกับการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ แต่มาตรา 13 เป็นการใช้การประชุมเฉพาะกรณีสรรหากรรมการ หากไม่ทำตามมาตรานี้ จะนำไปสู่การดำเนินการมาตรา 17 ไม่ได้
สำหรับกรรมการที่ไม่เข้าร่วมนั้น ประกอบด้วย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุ นายนิมิตร เทียนอุดม ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้ติดเชื้อเอดส์ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสตรี นางสุนทรี เซ่งกิ่ง ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านแรงงาน นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ผู้แทนองค์กรด้านคนพิการและจิตเวช รศ.ธิดา นิงสานนท์ ผู้แทนสภาเภสัชกรรม นายวีรวัฒน์ ค้าขาย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น และ นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้แทน อบจ.