xs
xsm
sm
md
lg

“วิทยา” สั่งสำรองยาป้องกันโรคระบาดหลังน้ำลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.สธ.ห่วงผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม มอบสปสช.ออกแนวทางการบริหารยาและเวชภัณฑ์เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างต่อเนื่อง  ย้ำโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน มั่นใจในการสั่งใช้ยาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยให้จ่ายยาแก่ผู้ป่วยได้ทุกสิทธิ ทั้งบัตรทอง ข้าราชการ และประกันสังคม และได้เตรียมแผนสำรองยาป้องกันโรคระบาดหลังน้ำลด

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  (สธ.) กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมได้ขยายวงกว้างส่งผลกระทบต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน ทำให้ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาพยาบาลนอกเขตพื้นที่ปกติ หรือไปรับบริการรักษาพยาบาลยังสถานบริการเอกชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ สปสช.ซึ่งอาจจะเกิดการสับสนหรือไม่แน่ใจในการสนับสนุนยา เวชภัณฑ์และวัคซีนที่ต่อเนื่อง รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น จึงได้มอบหมายให้สปสช.จัดทำแผนการสำรองยาและเวชภัณฑ์ในช่วงอุทกภัย ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำแผนการสำรองยาก่อนประสบอุทกภัยเพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ไว้ เพื่อให้หน่วยบริการที่เกี่ยวข้องทั้งที่ขึ้นทะเบียนหรือไม่ขึ้นทะเบียนไว้กับ สปสช.มั่นใจในการสั่งใช้ยาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วย

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า  สปสช.โดยกองทุนยาเวชภัณฑ์และวัคซีนได้จัดทำแนวทางการบริหารยา เวชภัณฑ์และวัคซีนในภาวะฉุกเฉิน ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาที่อยู่ในรายการ 90 รายการ ซึ่งเดิมจำกัดไว้เฉพาะผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพ แต่ในช่วงประสบอุทกภัยนี้ ให้สถานพยาบาลสามารถจ่ายยาดังกล่าวให้กับผู้ป่วยทุกสิทธิไปก่อนโดยพิจารณา จากเหตุผลความจำเป็นต่อผลการรักษา โดยโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือไม่ ได้เข้าร่วมโครงการฯสามารถแจ้งความต้องการยาและเวชภัณฑ์ต่อนายแพทย์สาธารณ สุขจังหวัด เพื่อส่งข้อมูลต่อให้กระทรวงสาธารณสุขแยกดำเนินการตามกลุ่มของยาเพื่อให้สามารถบริหารจัดการรวดเร็ว ในส่วนของ สปสช.จะดำเนินการในส่วนของยา 90 รายการโดยจะประสานและติดตามความคืบหน้ากับองค์การเภสัชกรรมจนสามารถจัดส่งยาถึงหน่วยบริการได้เรียบร้อย

“ทั้งนี้ สปสช.ยังได้สำรองยาทั้ง 90 รายการไว้กับองค์การเภสัชกรรมเพื่อให้มีปริมาณที่เพียงพอเฉลี่ยอย่างน้อย 3 เดือนในกรณีที่หน่วยบริการมีความจำเป็นต้องเลื่อนนัดกลุ่มเป้าหมายวัคซีนที่ใช้เสริมสร้างป้องกันโรคตามแผนการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค (EPI) ทำให้ต้องฉีดกระตุ้นซ้ำเมื่อมารับวัคซีนครั้งต่อไป และเตรียมประสานข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคหลังน้ำท่วมเพื่อจัดทำแนวทางจัดหายาฯ รองรับกับสถานการณ์โรคระบาดหลังน้ำลด เช่น FLU vaccine เป็นต้น” เลขาธิการ สปสช.  กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น