xs
xsm
sm
md
lg

เกิดก่อนปี 2535.... เสี่ยงวายร้าย “ไวรัสตับอักเสบบี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
โดยจารยา บุญมาก

สำหรับใครที่ไม่เคยตื่นตัวเรื่องการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยเฉพาะผู้ที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2535 เชื่อหรือไม่ว่า คุณกำลังใช้ชีวิตกับความเสี่ยงทางสุขภาพอย่างมาก เนื่องจากโรคดังกล่าวสามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และผ่านสายเลือด ซึ่งแน่นอนหากคุณมีการใช้เข็มฉีดยา เข็มสัก หรือแม้กระทั่งกรรไกรตัดเล็บและมีดโกนหนวดร่วมกับผู้ที่มีพาหะ ทั้งเชื้อเอชไอวี และเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการรับไวรัสตับอักเสบบีมากกว่าเอชไอวี ถึง 100 เท่า
รศ.นพ.ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ (ซ้าย)  รศ.นพ. ทวีศักดิ์ แทนวันดี(กลาง) พล.ต. นพ. อนุชิต จูฑะพุทธิ(ขวา)
ข้อมูลดังกล่าวได้รับการยืนยันโดย รศ.นพ.ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย ซึ่งให้ข้อมูลว่า จากสถิติพบว่า ทั่วโลกมีผู้เป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังกว่า 350 ล้านคน และมีผู้ได้รับเชื้อชนิดนี้กว่า 2,000 ล้านคน ส่วนในประเทศไทย พบว่า มีผู้เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีกว่า 3.5 ล้านคน ซึ่งมีสถิติพบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคไวรัสตับอักเสบบีที่ไม่ได้รับการรักษา 1 ล้านคนต่อปี โดยอาการทั่วไปของโรคนี้เกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ 1.เฉียบพลัน จะมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดชายโครง ตาเหลือง และ 2.แบบเรื้อรัง จะอ่อนเพลีย มีอาการต่อมน้ำลายโต และตับแข็ง ซึ่งแพทย์จะต้องตัดชิ้นเนื้อ หรือเอกซเรย์ ดู จึงจะทราบอาการและส่วนมากหากเป็นขั้นรุนแรงก็จะมีชีวิจอยู่ได้แค่ 4-6 เดือน โดยที่น่าห่วง คือ พบว่า ทารกที่รับเชื้อจากมารดา ทางสายเลือดที่เป็นตับอักเสบบีเฉียบพลัน มีโอกาสจะเป็นเรื้อรังได้ถึง 95% ขณะที่ผู้ใหญ่ซึ่งป่วยเฉียบพลันแล้วมีโอกาสรา 3-5% จะป่วยเรื้อรังได้ แต่โชคดีที่เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสรับวัคซีน

“ที่น่ากังวล คือ ไวรัสตับอักเสบบี นำไปสู่มะเร็งตับประมาณร้อยละ 80 ที่มีอยู่ทั่วโลก ดังนั้น จึงควรเร่งตรวจคัดกรองเพื่อจะได้รับยาอย่างถูกต้องและไม่ต้องเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ” รศ.นพ.ธีระ กล่าวเสริม

รศ.นพ.ธีระ กล่าวด้วยว่า โรคไวรัสตับอักเสบบี สามารถติดต่อผ่านคนได้โดยจากการสัมผัสเลือด และน้ำคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ สำหรับในเอเชียและตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่เชื้อจะแพร่จากแม่สู่ลูก และระหว่างเด็กๆ ด้วยกัน นอกจากนี้ เชื้ออาจจะแพร่โดยการใช้ของมีคม ของใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟันร่วมกับกับผู้ติดเชื้อ และการใช้เครื่องมือที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อในการสักผิวหนัง ทั้งนี้ มีผลการสำรวจของหลายสถาบันได้พบสถิติว่าผู้ที่เป็นพาหะโรคไวรัสตับ อักเสบบีมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับสูง ถึง 80% เรียกได้ว่าเป็นภัยเงียบสู่มะเร็งตับที่ต้องเฝ้าระวังอยู่เสมอ

รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังให้หายขาด แต่มีการรักษา 2 แบบ ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้โรคเลวร้ายลง และป้องกันโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งแบบแรกเป็นการรักษาโดยใช้ยาอินเทอเฟอรอน เพื่อช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ในการติดเชื้อ และแบบที่สองเป็นการใช้ยาต้านเชื้อไวรัส ซึ่งจะทำงานโดยการรบกวนการเพิ่มจำนวนไวรัส ซึ่งจะเป็นการลดปริมาณไวรัสในเลือด เป้าหมายการรักษา คือ การลดจำนวนไวรัสในเลือด

ขณะที่ พล.ต.นพ.อนุชิต จูฑะพุทธิ เลขาธิการมูลนิธิโรคตับ กล่าวว่า ในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา ทางมูลนิธิโรคตับร่วมกับสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย ได้จัดโครงการ “หยุดไวรัสตับอักเสบบี ต้านภัยมะเร็งตับ...เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา” เพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนได้มีการดูแลสุขภาพที่ดี รู้จักโรค รู้อาการ รู้อันตราย และรู้วิธีการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีที่ถูกต้องเหมาะสม โดยในปี 2555 ที่จะถึงนี้จะจัดกิจกรรมตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีฟรี จำนวน 8,400 ราย ทั่วประเทศ ซึ่งจะแจ้งสถานที่ในการคัดกรองให้ประชาชนทราบในภายหลัง ซึ่งบุคคลที่ควรตรวจคัดกรอง ได้แก่ ผู้ที่เกิดก่อนปี 2535 เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่หลังจากปีดังกล่าว มีวัคซีนป้องกันแล้ว จึงจำเป็นต้องคัดกรองในกลุ่มวัยทำงาน เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน และจะได้หาวิธีการป้องกันการนำไปสู่โรคมะเร็งตับ อันเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของชายไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น