xs
xsm
sm
md
lg

ขบวนการรีดหัวคิวแรงงาน ระบาดหนักในอีสาน เก็บรายละ 1.5-3 หมื่นบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.แรงงานปูด “ขบวนการรีดหัวคิวแรงงานไทย” ไปทำงานต่างประเทศ ระบาดในภาคอีสาน ร้องเรียนมากสุด เรียกเก็บรายละ 1.5-3 หมื่นบาท “เผดิมชัย” เรียก 200 บริษัทคุย แจง ทุกบริษัทต้องผ่านการตรวจสอบ พร้อมให้อธิบดี กกจ. การันตี

วันนี้ (13 ธ.ค.) พล.ต.ต.ขจร สัยวัตร์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา กล่าวในการประชุมร่วมกับนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) และผู้บริหารกระทรวงเกี่ยวกับมาตรการดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศว่า ขณะนี้ กมธ.ได้รับการร้องเรียนจ้างแรงงานในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.อุดรธานี พบว่ามีนายหน้าหลอกไปทำงานต่างประเทศ โดยคิดค่านายหน้าแพงเกินกว่ากฎหมายกำหนด เช่น ไปทำงานประเทศไต้หวัน ต้องเสียค่าใช้จ่าย 1.2-1.5 แสนบาท รวมทั้งต้องกู้เงินจะทำผ่านบริษัทบริหารสินเชื่อ ซึ่งต้องจ่ายค่าหัวคิวร้อยละ10 เช่น หากกู้เงิน 1.5 แสนบาท แรงงานจะได้รับเงินแค่ 1.2-1.3 แสนบาทเท่านั้น

ปัจจุบันมีบริษัทนายหน้าถูกร้องเรียนประมาณ 18 บริษัท ซึ่งกมธ.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปราบปรามไปแล้ว 1 บรืษัท ซึ่งบริษัทที่เหลือเริ่มเกรงกลัวมากขึ้นไม่กล้าที่จะละเมิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาแรงงานไทยถูกหลอก อยากให้กระทรวงแรงงานเน้นการป้องกันมากกว่าการปราบปราม โดยใช้อาสาสมัครแรงงาน (อสร.) ที่มีอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ช่วยเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาแรงงานถูกหลอกได้ดี เนื่องจากแรงงานที่ถูกหลอกส่วนใหญ่จะอยู่ตามชนบทห่างไกล เข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูล จึงอยากให้แต่ละหมู่บ้านควรจัดตั้ง อสร.ให้มากกว่า 1 คน โดยที่กระทรววงแรงงานเพิ่มงบสนับสนุนในส่วนนี้ให้มากขึ้น” พล.ต.ต.ขจร กล่าว
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายเผดิมชัยกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้เชิญบริษัทจัดหางาน 200 บริษัท มาทำความเข้าใจ ถึงมาตรการดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ โดยหลังจากนี้ทุกบริษัทที่จะส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศจะต้องผ่านการรับรองจากอธิบดีกรมการจัดหางานเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้ประสานไปยังทูตแรงงานให้ตรวจสอบประเทศปลายทางเกี่ยวกับตำแหน่งงานว่างและจำนวนแรงงานที่ไปทำงาน ให้มีข้อมูลที่ตรงกัน ก่อนที่จะส่งแรงงานไป เพื่อป้องกันปัญหาการหลอกลวง อีกทั้งให้แรงงานสามารถยื่นกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย

“ส่วนกรณีของการเพิ่ม อสร.นั้น ขณะนี้เรามี อสร.ทุกจังหวัดอยู่แล้ว โดยทำงานประสานกับแรงงานจังหวัดอยู่แล้ว แต่ถ้าพบว่าจุดใดมีปัญหา มีจุดอ่อน ก็คงต้องเพิ่มคนหรือแม้แต่ต้องปรับเปลี่ยนคน แม้กระทั่งเปลี่ยนผู้บริหารในพื้นที่นั้นๆ เพื่อทำให้ปัญหาหมดไปก็จำเป็นต้องทำ” นายเผดิมชัยกล่าว

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า กกจ.จะขยายศูนย์การบริการไปทำงานต่างประเทศไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้บริษัทจัดหางานได้พบกับแรงงานโดยตรง ไม่ต้องผ่านสายนายหน้า เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาหลอกลวงและเรียกค่าหัวคิวจากแรงงาน ขณะเดียวกันปัจจุบันยังมีศูนย์ป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงคนหางาน 75 ศูนย์ ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งหากพบบริษัทจัดหางานหลอกลวงแรงงาน ก็จะมีโทษทางอาญา ทั้งจำและปรับ ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม พล.ต.ต.ขจรได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังแรงงานไทยที่จังหวัดอุดรธานี และได้เปิดเสียงโทรศัพท์ให้ที่ประชุมฟัง ทั้งนี้ แรงงานดังกล่าวได้ร้องเรียนว่าถูกบริษัทนายหน้าจัดหางานเรียกเก็บเงินไปทำงานที่ไต้หวันกว่า 1.2-1.3 แสนบาท โดยตามกฎหมายจัดหางานฯ ต้องไม่เกิน 7 หมื่นบาททุกประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น