อย.เผยสถานประกอบการยา อาหาร น้ำดื่ม ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกว่า 800 แห่ง ใน 26 จังหวัด เร่งดันระบบ fast track
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 26 จังหวัดของประเทศไทย อย.ได้สำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานที่ผลิตอาหาร น้ำดื่ม และยา ที่ได้รับความเสียหายจกสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งจำนวนสถานที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า มีสถานที่ผลิตน้ำดื่มเสียหาย 86 แห่ง สถานที่ผลิตอาหาร 395 แห่ง สถานที่ผลิตน้ำแข็ง 26 แห่ง สถานที่ผลิตยาทั้งยาแผนโบราณและยาแผนปัจจุบัน 299 แห่ง โดยในส่วนของสถานที่ผลิตอาหารนั้นยังถือว่า สามารถผลิตชดเชยในประเทศได้ง่ายที่สุด เพราะมีอยู่หลายแห่งและใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน แต่สำหรับสถานที่ผลิตน้ำดื่มนั้นยังยากเพราะเทคนิคการกรองน้ำจำเป็นต้องมีความซับซ้อนและต้องสะอาด ซึ่งเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมโรงงานก็ไม่สามารถจะชดเชยได้มาก จึงต้องนำเข้าน้ำดื่มจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มียอดนำเข้าประมาณ 2 หมื่นลิตร ขณะที่อุตสาหกรรมยานั้นมีระดับความเสียหายที่แตกต่างกันได้แก่ ไม่สามารถผลิตได้ มีการผลิตเป็นครั้งคราวราว 8 แห่ง และมีกำลังการผลิตไม่เต็มพิกัด แต่ถือว่ายังไม่กระทบต่อความต้องการในท้องตลาดมากนัก เนื่องจากมียาเก็บในสต๊อกมากพอแล้ว
ภญ.ศรีนวลกล่าวต่อว่า จากความเสียหายทั้งหมดนี้ อย.ได้ดำเนินการเปิดระบบ fast track เพื่อเปิดบริการเป็นช่องทางพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งที่เป็นผู้ผลิต ผู้ว่าจ้าง สามารถว่าจ้างให้ผู้ผลิตรายอื่นดำเนินการผลิต หรือนำเข้าผลิตภัณฑ์เข้ามาทดแทนได้ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคขาดแคลนผลิตภัณฑ์ที่จำเป็น โดยคาดว่า ระบบ fast track นี้น่าจะเปิดให้ลงทะเบียนผู้ประกอบการได้เรื่อยๆ และปิดรับในปลายปี ซึ่งขณะนี้ไดบริการไปแล้ว 178 รายการ แบ่งเป็น น้ำดื่ม น้ำแร่ 38 รายการ 13 บริษัท นมผง นมยูเอชที (UHT) 27 รายการจาก 4 บริษัทอาหารกระป๋อง 17 รายการจาก4 บริษัท บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 39 รายการจาก 4 บริษัทและอาหารกล่อง 57 รายการจาก 10 บริษัท
“เชื่อว่าการใช้ระบบ Fast track จะช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากขึ้น ส่วนระยะเวลาในการใช้ fast track จะนานเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ประกอบการ ซึ่งคาดว่าแต่ละแห่งน่าจะใช้เวลาในการฟื้นฟูราว 6 เดือน” ภญ.ศรีนวลกล่าว