xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เลื่่อนเปิดเทอมจาก 1 ธ.ค.เป็น 6 ธ.ค.ส่วน 7 เขตน้ำท่วมสูงเลื่อนเปิด 13 ธ.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.เลื่อนเปิดเทอมจาก 1 ธ.ค.เป็น 6 ธ.ค. และ 7 เขตน้ำท่วมสูงเป็น 13 ธ.ค.2554 พร้อมเร่งจัดเก็บขยะไม่ให้ตกค้าง แจกจุลินทรีย์ให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด “สุขุมพันธุ์” ย้ำ เฝ้าระวังโรคภัยต่างๆ

วันนี้ (22 พ.ย.) เวลา 11.45 น.ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษก กทม. เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหากรุงเทพฯ ว่า วันนี้ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 1,826 ลบ.ม./วินาที (ลดลงจากเมื่อวาน 101 ลบ.ม./วินาที) ระดับน้ำ อ.บางไทร 3.47 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ลดลงจากเมื่อวาน 5 ซม.) น้ำทะเลหนุนสูงสุด เวลา 03.30 น. ระดับ +0.53 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และจะขึ้นอีกครั้งเวลา 14.25 น.ระดับ +1.08 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้ระดับน้ำสูงสุดวันนี้ที่บริเวณปากคลองตลาด คาดการณ์โดยกรมอุทกศาสตร์ เวลา 14.25 น.จะอยู่ที่ระดับ +2.14 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

สำหรับระดับน้ำบริเวณประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์ ระดับน้ำลดลง ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ลดลง 4 ซม.บริเวณคลองหก น้ำลดลง 7 ซม.คลองแสนแสบ และคลองประเวศบุรีรมย์ ลดลง 1-2 ซม.คลองลาดพร้าว ลดลง 2-4 ซม.คลองเปรมประชากร ช่วงดอนเมือง ลดลง 2 ซม.ในเมืองลด 4 ซม.คลองบางเขน ลดลง 2 ซม.บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงคลองลาดยาว รถเล็กผ่านได้ชิดเกาะกลาง ซึ่ง กทม.จะเร่งเคลียร์น้ำบริเวณคลองบางบัว เพื่อลดระดับน้ำในพื้นที่ดังกล่าว โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่ม ในส่วนของ ถ.แจ้งวัฒนะ จาก ถ.วิภาวดีรังสิต ถึงคลองถนนน้ำแห้งทั้งสองฝั่ง คลองมอญ 78 ซม.ลดลงเหลือ 70 ซม.คลองบางกอกใหญ่ 52 ซม.ลดลงเหลือ 50 ซม.ลาดพร้าว 56 อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะถอนเครื่องสูบน้ำบริเวณนี้เพื่อไปกู้พื้นที่อื่นๆ บริเวณหน้า นสพ.เดลินิวส์ ลดลงไปอีก 20 ซม.
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ กทม.ยังคงเฝ้าระวังการเปิดกระสอบทราย และเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาน้ำท่วมใน กทม.ยาวนานขึ้น รวมถึงเฝ้าระวังแนวริมน้ำเจ้าพระยาทุกจุด เนื่องจากระดับน้ำทะเลจะหนุนสูง ช่วงปลายเดือนนี้ หรือประมาณวันที่ 27 พ.ย.บวกกับฐานน้ำเดิมมีระดับสูงอยู่แล้ว อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนริมแม่น้ำดังที่ผ่านมา

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมการจัดเก็บขยะใหนพื้นที่ กทม.50 เขต เมื่อวันที่ 20 พ.ย.จัดเก็บได้ 7,473 ตัน คิดเป็น 87.92% ของปริมาณขยะในสภาวะปกติ 8,500 ตัน โดยศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม กำจัดโดยวิธีฝังกลบ รวม 2,068 ตัน ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช กำจัดโดยวิธีฝังกลบ 4,361 ตัน และหมักทำปุ๋ย 1,044 ตัน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 5,405 ตัน ทั้งนี้ ภายหลังน้ำลดในพื้นที่พื้นที่ ทำให้ประชาชนเริ่มทยอยเข้าบ้าน พร้อมทั้งทำความสะอาดบ้านเรือน และนำสิ่งของซึ่งถูกน้ำท่วมภายในบ้านมาทิ้งเพิ่มเติม ส่งผลปริมาณขยะในการจัดเก็บเพิ่มสูงขึ้น แต่ กทม.จะเร่งดำเนินจัดเก็บให้มากที่สุดและเร็วที่สุด

ส่วนปริมาณการจัดเก็บขยะของ 25 เขตน้ำท่วมขัง การจ้างอาสาสมัครชักลากขยะ 25 เขต มีจำนวนอาสาสมัคร 915 คน โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ย.จัดเก็บได้ 3,379 ตัน คิดเป็น 78.4% ของปริมาณขยะในสภาวะปกติ 4,313 ตัน ทั้งนี้ เขตที่จัดเก็บขยะได้น้อยกว่า 50% มีจำนวน 5 เขต ประกอบด้วย สายไหม ทวีวัฒนา หนองแขม ดอนเมือง และบางแค เนื่องจากระดับน้ำในพื้นที่ยังท่วมสูง นอกจากนี้ กทม.ได้ดำเนินการบำบัดกลิ่นและน้ำเสีย โดยฉีดพ่นจุลินทรีย์ปริมาณ 12,000 ลิตร ที่เขตบางแค และวันที่ 22 พ.ย.จะดำเนินการในพื้นที่เขตพญาไท ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถขอรับน้ำจุลินทรีย์ที่สวนลุมพินีได้ตลอด แต่จำเป็นต้องนำภาชนะมาบรรจุด้วยตนเอง นอกจากนี้สำนักงานเขตยังมีถังน้ำอีเอ็มซึ่งประชาชนสามารถนำภาชนะไปบรรจุได้ เลย

โฆษก กทม.กล่าวด้วยว่า ผู้ว่าฯ กทม.ย้ำให้ทุกพื้นที่จัดเก็บขยะให้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้มีขยะตกค้างในพื้นที่ ไม่เช่นนั้นจะเก็บไม่ทันอีกทั้งมีปริมาณขยะตกค้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกวัน อีกทั้งแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในพื้นที่ที่มีท่วมขังเกิน 1 สัปดาห์โดยเร่งด่วน โดยนำจุลินทรีย์น้ำไปฉีดพ่นในพื้นที่พร้อมทั้งแจกจ่ายให้กับประชาชนเพื่อบำบัดน้ำเสียในบ้านของตนเองอย่างทั่วถึง เนื่องจากหากดำเนินการภายหลังน้ำลดจะแก้ไขปัญหาได้ยากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังกำชับหน่วยงานเร่งหาวิธีเยียวยาเพิ่มเติมแก่ประชาชนที่ได้รับผล กระทบจากน้ำท่วมขังระดับสูงและยาวนานอย่างเป็นธรรม

นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญอีกประการ คือ ปัญหายุงชุม ซึ่งจำเป็นต้องเร่งกำจัดโดยมอบหมายให้นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัด กทม.และสำนักอนามัย กทม.หารือถึงวิธีการที่เหมาะสม และหากจำเป็นต้องใช้วิธีการฉีดพ่นหมอกควัน เพื่อกำจัดยุงตัวแก่ ก็ขอให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบอย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนและสัตว์เลี้ยงหลีกเลี่ยงการสูดกลิ่นควันซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและปกปิดทรัพย์สินไม่ให้มีกลิ่นควันติดตามทรัพย์สินด้วย รวมถึงดูแล 4 โรคอันตรายที่มากับน้ำท่วมขัง ได้แก่ โรคฉี่หนู โรคท้องเดิน ไข้หวัด และไข้เลือดออก

โฆษก กทม.กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีผู้ประสบภัยพักพิงในศูนย์ของ กทม.จำนวน 15,204 คน ทั้งนี้ กทม.จะเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยซึ่งพักพิงภายในโรงเรียนสังกัด กทม.ไปยังศูนย์พักพิงที่ปลอดภัย ศูนย์เยาวชนในสังกัดของ กทม.และที่ค่ายลูกเสือกรุงธนฯ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ ศปภ.เพื่อทำความสะอาดโรงเรียน และให้พร้อมเปิดเทอมกลุ่มแรก 6 ธ.ค.2554 ในส่วนของพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังสูง เช่น ดอนเมือง สายไหม หลักสี่ ทวีวัฒนา หนองแขม บางแค และ บางบอน จะรอให้ระดับน้ำลดลงก่อน จากนั้นจึงจะทำความสะอาดและเปิดเรียนเป็นกลุ่มที่สองในวันที่ 13 ธ.ค.2554
กำลังโหลดความคิดเห็น