xs
xsm
sm
md
lg

ยูเนสโกยกย่อง “พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า”-“หม่อมหลวงบุญเหลือ” บุคคลสำคัญของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยูเนสโก ยกย่อง พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า บุคคลสำคัญของโลกด้านสาธารณสุข-วัฒนธรรม ลำดับที่ 21 ของไทย วธ.ร่วมมูลนิธิฯ เฉลิมฉลองวาระ 150 ปี รวมถึงยกย่อง หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ บุคคลสำคัญของโลกดีเด่นด้านการศึกษา วัฒนธรรม ภาษา และวรรณคดี การส่งเสริมสถานภาพสตรี และส่งเสริมสันติภาพด้วย
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
วันนี้ (10 พ.ย.) นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ในการประชุมสมัยสามัญขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ครั้งที่ 35 ที่สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติรับรองการประกาศร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 150 ปี พระราชสมภพ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตรงกับวันที่ 10 ก.ย.2555 ในฐานะที่ทรงเป็นบุคคลสำคัญที่มีผลงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (สาธารณสุข) วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และมานุษยศาสตร์ ตามที่ วธ.ได้เสนอประวัติผลงานของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ

ดังนั้น วธ.ร่วมกับมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พิจารณาเห็นสมควรร่วมมือกับหน่วยงาน และสถาบันที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศ โดยจะเสนอรัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณให้แพร่หลายในระดับนานาชาติและในประเทศให้ปรากฏแก่ประชาชนชาวไทยทั้งมวล ในฐานะที่ได้ทรงงานอันเป็นคุณูปการแก่สังคมไทยในหลายประการ ซึ่งมีคุณค่าและเป็นแบบอย่างที่ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ

อนึ่ง พระราชสมภพ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2405 ทรงเจริญพระชนม์ชีพในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศ ทรงได้รับการอบรมกล่อมเกลาในขนบราชประเพณีแห่งราชสกุลวงศ์ โดยในช่วงการศึกษา สมัยที่เรียกขานกันในวงวิชาการว่า “สยามเก่า” ราชสำนักเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษาสรรพวิทยาการ พระองค์ได้ทรงเรียนรู้วิชาหลักและอื่นๆ ที่ราชนารีจักต้องศึกษาวิทยาการตะวันตก ตลอดจนถึงหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งจักเป็นพื้นฐานแห่งอุดมการณ์ความเมตตา มนุษยธรรม และการทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมในเวลาต่อมา

พระองค์ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ใน พ.ศ. 2423 ทรงมีพระราชโอรสธิดา 8 พระองค์ เสด็จสู่สวรรคาลัย พ.ศ. 2498 ณ วังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับตั้งแต่ พ.ศ. 2459 พระองค์ทรงดำรงพระชนม์ชีพยืนยาว 6 แผ่นดิน ระหว่าง พ.ศ.2405-2498 เป็นเวลา 93 ปี ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสยามเก่ากับสยามใหม่

พระองค์ทรงเป็นพระราชชนนี (แม่) ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของไทย พระมาตุจฉาเจ้า (ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระอัยยิกาเจ้า (ย่า) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ตลอดระยะเวลาพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงสนพระทัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการแพทย์ การพยาบาล ริเริ่มสร้างสถานพยาบาลเล็กๆ เพื่อชุมชนชาวประมงและเกษตรกรรม ณ ตำบลศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา การพระราชทานความช่วยเหลืออื่นๆ แก่ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยผ่านพระราชกรณียกิจด้านสภากาชาดไทย ที่ดำรงตำแหน่งองค์สภาชนนีสภาอุณาโลมแดง อันเป็นชื่อของสภากาชาดไทยเมื่อครั้งแรกตั้งในต้นรัชกาลที่ 5 และการแพทย์อื่นๆ เช่น โรงพยาบาลศิริราช

ทรงร่วมกับพระธิดา (สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์) ก่อสร้างโรงเรียนสหายหญิง ที่จังหวัดสระบุรี เพื่อร่วมช่วยแก้ปัญหาเยาวชนหญิงในจังหวัดนี้มีที่เรียนไม่เพียงพอ ต่อมารวมกับโรงเรียนชายที่มีอยู่ เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม ก่อตั้งโรงเรียนราชินีบน ที่ถนนเขียวไข่กา บางกระบือ พระองค์ทรงใส่พระทัยดูแลการบริหารจัดการและพระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงโรงเรียนนี้อยู่เสมอ รวมทั้งโรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ก่อตั้งโรงเรียนนี้ขึ้น
ม.ล.บุญเหลือ เทพสุวรรณ
สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยในลำดับที่ 21 นับตั้งแต่ยูเนสโกดำเนินโครงการประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของประเทศสมาชิก ซึ่งมีความสำคัญในระดับโลกหรือระดับภูมิภาค เนื่องในวาระครบรอบ ปีเกิดหรือปีตาย 50 ปี 100 ปี หรือมากกว่า โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา คือ บุคคลสำคัญหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จะต้องเกี่ยวข้องกับภารกิจหลักของการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน และส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษยชาติ ซึ่งการพิจารณารายชื่อบุคคล หรือเหตุการณ์สำคัญในการประชุมใหญ่สมัยสามัญ จัดขึ้นทุก 2 ปี

ด้าน น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า นอกจากนี้ ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ เนื่อโอกาศครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ในวันที่ 13 ธันวาคม 2555 ในฐานะที่มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วัฒนธรรม ภาษาและวรรณคดี การส่งเสริมสถานภาพสตรี และส่งเสริมสันติภาพ

สำหรับ ม.ล.บุญเหลือ เทพสุวรรณ เป็นผู้มีคุณูปการอย่างสำคัญท่านหนึ่งแก่วงการการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการขยายโอกาสและปรับปรุงคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับมัธยมศึกษา การฝึกหัดครูและการอุดมศึกษา การอนุรักษ์ภาษาไทย การส่งเสริมการสอนภาษาและวรรณคดีไทย การวิจารณ์วรรณคดี การส่งเสริมการสอนภาษาและวรรณคดีภาษาอังกฤษ รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการศึกษาและวัฒนธรรมของประเทศที่พูดภาษาอังกฤษตลอด จนส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่าง

อนึ่ง ม.ล.บุญเหลือ ถือกำเนิดในราชสกุล กุญชร เป็นบุตรคนสุดท้ายของเจ้าพระยาเทวศรวงวิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) กับหม่อมนวล เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2454 สำเร็จการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนคอนแวนต์ในปีนัง และได้เข้าเรียนจนจบระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ารับราชการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นได้รับทุนไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมิเนโซต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมารับราชการ ทำงานทางด้านการศึกษา และเป็นผู้บริหารตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการและทบวงมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโกครั้งนี้ ยูเนสโกได้มีมติประกาศยกย่องบุคคลและเหตุการสำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลก จำนวนทั้งสิ้น 98 รายการ อาทิ 200 ปี ชาตกาลของริชาร์ด วากเนอร์ นักเขียนชาวเยอรมัน 300 ปี ชาตกาลของ ฌอง-ฌาค รุสโซ นักปรัชญา นักเขียน นักการศึกษา ชาวสวิสและฝรั่งเศส
กำลังโหลดความคิดเห็น