xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียรามา: “ก็อตซิลล่า ภาคแรก” ดูเอาความขลัง หรือยังสนุกอยู่จริง ๆ ?

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี


ปี 2011 ถือเป็นวาระครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาล ของผู้กำกับระดับปูชนียบุคคลจากญี่ปุ่น “อิชิโร ฮอนดะ” แม้ชื่อเสียงของเขาอาจจะไม่สามารถเทียบเคียงกับเพื่อนร่วมงาน และเพื่อนสนิทที่ชื่อว่า “อากิระ คูโรซาวะ” ได้ แต่ชื่อของ “ฮอนดะ” ก็ถือว่าอยู่ในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง แห่งวงการภาพยนตร์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะผู้ให้กำเนิด "ก็อตซิลล่า"

ก็อตซิลล่า ตำนานหนังสัตว์ประหลาดยักษ์ เป็นยักษ์ใหญ่ที่อยู่คู่เป็นสัญลักษณ์ของวงการภาพยนตร์แดนปลาดิบมาแล้วร่วม 50 ปี โดยเฉพาะหนังภาคแรกที่มีชื่ออย่างเป็นทางการในการเข้าฉายทั่วโลกว่า “Godzilla, King of the Monsters!” นั้นเรียกว่าเข้าฉายตั้งแต่ปี 1954 สมัยยังเป็นภาพยนตร์ขาวดำอยู่เลย …. ซึ่งในฐานะแฟนคลับหนังสัตว์ประหลาดระดับอนุบาลคนหนึ่ง ต้องขอยอมรับเลยครับ ผมว่าเพิ่งมีโอกาสได้ดู ก็อตซิลล่า ภาค 1 เป็นครั้งแรกไปเมื่อเร็ว ๆ นี้นี่เอง ซึ่งก็มีหลายอย่างที่ผิดจากที่คาดเดาเอาไว้ครับ 1) หนังยังดูสนุกมากแม้ใน พ.ศ. ที่ CG กลายเป็นมาตรฐานแห่งเทคนิคพิเศษไปแล้ว 2) สำหรับฉากที่ไม่มีพระเอกของเรื่องอย่าง ก็อตซิลล่า ปรากฏอยู่ในจอภาพ เรื่องราวของตัวละครมนุษย์ ที่ไม่ค่อยจะมีใครพูดถึงนัก ก็นับว่ามีเนื้อมีหนังน่าติดตามดีทีเดียว

และแม้ว่าหนังที่สร้างออกมาเป็นสิบ ๆ ภาคชุดนี้จะได้ชื่อว่าเป็นหนังสัตว์ประหลาดยักษ์ถล่มโลก เป็นความบันเทิงสำหรับเด็ก อันเป็นเต็มไปด้วยความโฉ่งฉ่างเหนือจริง มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวไซไฟแฟนตาซีหลุดโลก ของบรรดาสัตว์ประหลาดหลากหลายรูปแบบ แต่สำหรับหนังภาคแรกที่เป็นต้นกำเนิดของ ก็อตซิลล่า นั้น ก็เรียกได้ว่ามีเนื้อหาหนักหน่วงจริงจังอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

เรื่องราวของหนังเกี่ยวพันอย่างปฏิเสธไม่ได้กับเหตุการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นถูกถล่มด้วยนิวเคลียร์สองลูกที่นางาซากิ และ ฮิโรชิม่า โดยที่ไม่ได้กล่าวถึงความถูกผิดของใคร ในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยตรง แต่เลือกที่จะเล่าถึงผลกระทบอันร้ายแรงจากสงครามมากกว่า หนังอาจจะไม่ได้บอกเล่าแนวคิดอันคมคาย แต่ก็มีเรื่องราวและการนำเสนอที่หนักแน่นทรงพลัง

ด้วยความร่วมมือของ “โทโมยูกิ ทานากะ” ผู้อำนวยการสร้างชื่อดังจาก “โตโฮ” ที่ร่วมแต่งเรื่อง และดูแลงานสร้างของภาพยนตร์เรื่องนี้ กับนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ “ชิเกรุ คายาม่า” ผู้รับหน้าที่เขียนบทร่างแรกของหนัง, “เอย์จิ ซึบูราย่า” พ่อมดสเปเชี่ยลเอฟเฟค รับผิดชอบการสร้างภาพในจิตนาการให้กลายเป็นความจริง และตัวผู้กำกับอย่าง “อิชิโร ฮอนดะ” ซึ่งดูแลภาพรวมในทุกด้าน ที่ช่วยกันทำให้งานชิ้นนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น “ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์” กันอย่างไม่อายปาก นอกจากจะนำเสนอตรรกะทางวิทยาศาสตร์ที่มีเหตุผลแล้ว ยังกล่าวถึงผลกระทบต่อ “ตัวละครมนุษย์” ที่มีบทบาทความสำคัญต่อตัวเรื่อง ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเจ้าสัตว์ประหลาดยักษ์ตัวเอก

ดร. ยามาเนะ กับ ก็อตซิลล่า

นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวต่างชาติผู้หนึ่งอธิบายหนัง ก็อตซิลล่า ภาคแรกในปี 1954 ไว้ว่าเป็นงานที่ผสมผสานระหว่างความเป็นหนังแนว “ไซไฟ”, “สัตว์ประหลาด”, “ระทึกขวัญ” และ “สารคดี” กล่าวคือแม้จะเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์เหนือจินตนาการ มีฉากการทำลายล้างของสิ่งมีชีวิตยักษ์ใหญ่ที่ไม่มีอยู่จริง แต่ก็มีการเล่าเรื่องอธิบายความที่ใกล้เคียงกับการเป็นหนังสารคดี ... ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดผู้กำกับได้ถ่ายทอดมุมมองต่าง ๆ ผ่านตัวละครนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นรายหนึ่ง ที่เป็นผู้ค้นพบ ก็อตซิลล่า

“ทาเคชิ ชิมูระ” นักแสดงผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นรับบทเป็น “ดร. เคียวเฮ ยามาเนะ” นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลโตเกียว ให้นำทีมสำรวจไปตรวจสอบความผิดปกติที่ก่อให้เกิดความเสียหายบริเวณเกาะ เมืองชายฝั่งทะเลของญี่ปุ่น ที่เกิดความเสียหาย และที่มีเรือเดินสมุทรอับปางไปอย่างไม่ทราบสาเหตุหลายลำ …. จนเขาได้ค้นพบสัตว์ประหลาดยักษ์ และยังสามารถขุดลึกไปถึงแหล่งที่มาของมันว่าเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดมหึมา ที่เกิดจากกัมมันตภาพรังสี ที่ต่อมาถูกเรียกขานกันว่า “ก็อตซิลล่า

แม้หนัง ก็อตซิลล่า จะได้ชื่อว่าเป็นงานที่กล่าวถึงผลกระทบของระเบิดนิวเคลียร์สองลูกที่ญี่ปุ่นโดนบอมไปก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี แต่หนังก็ไม่ได้กล่าวโทษฟาดหัวฟาดหาง ต้องการตัดสินความผิดให้แก่ใคร หลักฐานที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ ดร. เคียวเฮ ยามาเนะ ที่ไม่ได้แบกรับความรู้สึกโกรธแค้น หรือหวาดกลัวต่อสัตว์ประหลาดยักษ์ที่ตนเองค้นพบ ซ้ำร้ายยังต้องต่อสู้ต่อความรู้สึกล้ำกลืนฝืนทน เมื่อตนเองมองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะรักษาชีวิตของก็อตซิลล่าไว้เพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ แต่ด้วยระดับความอันตราย และความเสียหายที่มันสร้างอย่างไร้ขอบเขต มันจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากเต็มทน เขาเองก็ทราบดี และไม่สามารถทำใจยอมรับได้ เมื่อตนเองต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของแผนการหยุดยั้ง หรือทำลาย ก็อตซิลล่า ไปด้วย

มีผู้อธิบายถึงบทบาทของ ดร. เคียวเฮ ยามาเนะ ที่เป็นผู้ค้นพบ ก็อตซิลล่า ว่าไม่ได้แตกต่างอะไรกับ “ดร. แฟรงเกนสไตน์” ที่ต้องเฝ้ามอง และมีส่วนต่อความหายนะของ อสุรกาย ที่ตอนเองเป็นผู้ปลุกชีพขึ้นมาเลย

รักสามเส้า เราสามคน

นอกจากเรื่องราวของ สัตว์ประหลาดและการทำลายล้างแล้ว ก็อตซิลล่า ยังแทรกเรื่องรักสามเส้าเอาไว้ด้วย หนังมีตัวละครเอก 3 ตัวที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ … ”เอมิโกะ ยามาเนะ” (โมโมโกะ โคจิ) ลูกสาวคนสวยของ ดร. ยามาเนะ ที่เดินทางติดตามบิดาไปสำรวจร่องรอยของสิ่งมีชีวิตยักษ์ใหญ่ด้วย เธอได้พบรักกับกัปตันเรือหนุ่ม ฮิเดโดะ โอคาตะ (อากิระ ทาการาดะ) ทุกอย่างคงไม่ได้เป็นปัญหาอะไร หากเธอไม่ได้มีคู่หมั้นหมายอยู่ก่อนแล้ว กับนักวิทยาศาสตร์ลูกศิษย์ของบิดาตนเอง

อดีตนักวิทยาศาสตร์อนาคตไกล ไดซึเกะ เซริซาว่า (อากิฮิโกะ ฮิราตะ) กลายเป็นคนพิการหลังการปิดฉากของสงคราม เขาต้องใช้ผ้าคาดตา เพื่อปกปิดดวงตาข้างที่บอดไว้ และเก็บตัวทำงานแต่อยู่ในห้องวิจัย แต่สิ่งที่ทำให้หญิงสาวคิดตีจากเขาไป อาจจะเป็นความหมกมุ่นต่องานของตัวเองอย่างบ้าคลั่ง โดยเฉพาะกับการคิดค้นเครื่อง Oxygen Destroyer อุปกรณ์ที่สามารถแยกอตอมของอ็อกซิเจนออกจากของเหลวได้ ซึ่งจะมีผลเป็นการทำลายล้างสิ่งมีชีวิตในน้ำได้อย่างน่าสะพรึงกลัว

ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวนี่เอง ที่กลายเป็นกุญแจสำคัญในการกำจัดก็อตซิลล่าในเวลาต่อมา แต่เจ้าตัวกลับจะไม่ต้องการให้งานวิจัยหลุดรอดไปสู่มือของคนอื่น โดยเฉพาะนักการเมือง และผู้กระหายในสงคราม เพราะทราบถึงความร้ายกาจของมันดี

นักแสดงหนุ่ม อากิฮิโกะ ฮิราตะ มาถึงจุดสูงสุดในอาชีพนักแสดงด้วยผลงานชิ้นนี้ แม้จะถูกสัตว์ประหลาดยักษ์ตัวเอก “ตัวจริง” ของเรื่องบดบัดรัศมีไปแทบมิด ฮิราตะ ยังให้การแสดงอันสลับซับซ้อน ในการสวมบทบาทเป็น ดร. เซริซาว่า ผู้มีส่วนผสมทั้งความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่ถูกครอบงำโดยงานค้นคว้าของตัวเอง และชายซึ่งจมอยู่กับบาดแผลที่ได้รับจากสงคราม จนกลายเป็นคนผู้แปลกแยกและใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ซึ่งแน่นอนว่าการตีจากของหญิงคนรักคือฝางเส้นสุดท้ายในชีวิตของเขา … ซึ่งก็ต้องอย่าลืมว่า ฮิราตะ ถ่ายทอดการแสดงทั้งหมด ด้วยดวงตาเพียงข้างเดียวเท่านั้น!!!

เรื่องราวมาถึงจุดสำคัญ เมื่อหญิงสาวนำความลับเรื่อง Oxygen Destroyer ของนักวิทยาศาสตร์หนุ่ม ไปบอกกับคนรักใหม่ของเธอ เพราะเชื่อว่านี่คือความหวังเดียวที่จะหยุดก็อตซิลล่าที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายแล้วได้ ในทางตรงกันข้ามสำหรับ เซริซาว่า นี่กลายเป็นเป็นการถูกทรยศหักหลัง ทั้งในฐานะนักวิจัย และผู้ชายคนหนึ่ง

มนุษย์สิ่งมีชีวิตแสนเปราะบาง กับสัตว์ประหลาดยักษ์ผู้ไร้ความผิด

ภาพการทำลายตึกรามบ้านช่อง คือฉากประจำที่เห็นได้ในหนัง ก็อตซิลล่า ทุก ๆ ภาค แต่สำหรับหนังภาคแรก ความรุนแรงและการทำลายล้างไม่ได้ถูกเล่าด้วยน้ำเสียงแห่งความสนุกสนานบันเทิงเริงใจ สนุกตื่นเต้น เหมือนกับ ก็อตซิลล่า ภาคอื่น หรือหนังสัตว์ประหลาดโดยทั่วไป แต่เป็นความหายนะที่แทบไม่ได้แตกต่างอะไรจากภัยสงครามเลย

แม้งานเทคนิคพิเศษของ ซึบูราย่า จะพิเศษและน่าตื่นตาตื่นใจเพียงใด แต่ผู้กำกับ อิจิโร่ ฮอนดะ เองยังใส่ใจกับรายละเอียดอื่น ๆ ของหนังอย่างเท่าเทียมกัน เขาจับภาพฉากต่าง ๆ ตลอดจนสีหน้าของตัวละครทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญ อย่างละเอียดเพื่อถ่ายทอดปฏิกิริยาตอบสนอง และผลกระทบของความเสียหายให้เห็นกันอย่างชัดเจน ทั้งไฟที่ลุกท่วมเมือง, ใบหน้าแห่งความสิ้นหวัง และเสียงกรีดร้องคร่ำครวญของประชาชนก็ถูกขับเน้นเป็นพิเศษ

ฉากที่โดดเด่นมากที่สุดก็คือ การเสนอภาพของประชาชนผู้รอดชีวิต ในศูนย์ผู้หลบภัย ภาพของผู้บาดเจ็บที่นอนเกลื่อนกลาดด้วยความทุรนทุรายในโรงพยาบาล รอการรักษา ด้วยหมอและพยาบาลที่ไม่เพียงพอ ระงมไปด้วยเสียงร้องของเด็ก ๆ ที่สูญเสียพ่อแม่ เป็นภาพที่หลายคนกล่าวว่าแทบไม่แตกต่างอะไรกับภาพของผู้รอดชีวิตจาก ฮิโรชิม่า และนางาซากิ เลย เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกที่ระคนไปด้วยความสิ้นหวัง และสะบักสะบอม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฉากดังกล่าวจะถูกซอยให้สั้นลง เมื่อหนังได้เข้าไปฉายที่สหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา

ความเป็นขาวดำก็ส่งเสริมคุณสมบัติด้านนี้ขึ้นไปอีก นอกจากจะช่วยปิดบังอำพรางความไม่แนบเนียนของเทคนิคพิเศษรุ่นโบราณแล้ว ยังให้ความรู้สึกสมจริงเป็นพิเศษ ภาพความสลดหดหู่ และความมืดมิดในหลาย ๆ ช่วงของหนังแทบจะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ มีบรรยากาศกลายเป็นหนังสยองขวัญสั่นประสาทไปเลยทีเดียว

ตัวเทคนิคพิเศษของการสร้างตัว ก็อตซิลล่า ด้วยการแสดงของนักแสดงผู้สวมชุดหุ่นยาง นั้นอาจจะเป็นเทคนิคที่เรียกว่า ปัจจุบันนี้ไม่มีใครใช้ นอกจากในวงการหนังญี่ปุ่นแล้ว ยิ่งใน ก็อตซิลล่า ฉบับนี้เทคนิคการสร้างหุ่นก็อตซิลล่าเองก็ถือว่ายังไม่ได้ก้าวหน้านัก เมื่อเทียบเท่ากับอีกหลาย ๆ ภาคต่อมา แต่ผู้สร้างก็ยังแสดงให้เห็นถึงความเพียรพยายาม ที่บรรจงออกแบบ “ปฏิกิริยา” ของก็อตซิลล่า ต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธ, ไฟแฟลชของช่างภาพ และตึกรามบ้านช่องที่มันไม่เคยเห็น ให้ออกมาดูราวกับเป็นเหมือนปฏิกิริยาของ “สัตว์” ตัวหนึ่งจริง ๆ ไม่ได้ตั้งท่าแยกเขี้ยว, สบัดหาง แผ่รังสีอำมหิต โชว์ฟอร์มความน่ากลัว จนเลยเถิดจากตรรกะความเป็นจริงไป

………………………….…

ในยุค CG ครองเมือง การกลับมาดู “ก็อตซิลล่า” ภาคแรกที่มีความเก่าแก่ถึงเกือบ 60 ปีเข้าให้แล้ว แถมยังเป็นหนังขาวดำอีก อาจทำให้หลาย ๆ คน “กลัวบารมี” และกังวลว่า “ก็อตซิล่า” ภาคนี้จะโบราณเก่าเก็บเกินที่รับไหว ซึ่งก็ขอยืนยันตรงนี้ครับว่าหนัง “เก่า” และ “เชย” อย่างที่คาดเอาไว้นั่นแหละ แต่หนังก็ยังปรากฏร่องรอยของความก้าวหน้า, เหนือชั้น และทุ่มเท ของคนทำหนังรุ่นปู่ที่ปัจจุบันแทบจะล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว ได้อย่างชัดเจน

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก












กำลังโหลดความคิดเห็น