สธ.ห่วงโรคฉี่หนู คุกคามคนไทย เร่งกระจายชุดตรวจโรค 2 หมื่นชุด ให้จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมใช้ทดสอบในผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัย รู้ผลใน 15 นาที ช่วยแพทย์วินิจฉัย รักษาถูกต้อง ป้องกันการเสียชีวิต
นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ พร้อมด้วย นายแพทย์ บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะ เพื่อเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เทศบาลนครอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี และที่ว่าการอำเภอเมือง จ.ศรีสะเกษ โดยมอบยาสามัญประจำบ้าน เครื่องใช้จำเป็นให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม เมื่อเช้าวันนี้ (5 พ.ย.) ว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม และหลังน้ำลดอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือ โรคฉี่หนู เนื่องจากเชื้อโรคนี้สามารถเจริญเติบโตและมีชีวิตอยู่ได้ในแหล่งน้ำท่วมได้ไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ คนที่เคยป่วยแล้วมีโอกาสป่วยซ้ำได้อีก โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล หรือรอยขีดข่วนผิวหนัง หรืออาจเข้าทางตา จมูก และปาก หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง
นายต่อพงษ์ กล่าวต่อว่า ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฉี่หนู กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ผลิตชุดทดสอบโรคฉี่หนูภาคสนามอย่างง่าย และได้จัดส่งให้พื้นที่น้ำท่วมทุกจังหวัดจำนวน 20,700 ชุด เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นในรายที่พบผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัย การตรวจมีขั้นตอนใช้ง่าย ไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ รู้ผลภายใน 15 นาที สามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่า ให้ผลแม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้เร็วและถูกต้อง สามารถรักษาได้ทันท่วงที ป้องกันผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยในเดือนตุลาคม 2554 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจตัวอย่างผู้ป่วยที่สงสัยโรคฉี่หนูจำนวน 20 ตัวอย่าง พบเป็นโรคฉี่หนู 1 รายที่ จ.ขอนแก่น โดยชุดทดสอบโรคฉี่หนู 1 ชุด สามารถตรวจผู้ป่วยได้ 25 ราย โดยชุดทดสอบนี้เป็นนวัตกรรมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคฉี่หนูของทีมแพทย์ไทย ลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากโรคฉี่หนูได้
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารและน้ำดื่มในพื้นที่น้ำท่วม ตั้งแต่ 6 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน 2554 ได้เก็บตัวอย่างอาหาร 45 ตัวอย่างในจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และ กรุงเทพมหานคร ผลตรวจพบอาหารมีการปนเปื้อนเชื้ออุจจาระร่วง 17 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 38 และสุ่มตรวจตัวอย่างน้ำดื่ม น้ำใช้ และน้ำแข็ง จาก จ.พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี จำนวน 57 ตัวอย่าง พบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ 21 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 37 โดยเฉพาะการตรวจตัวอย่างน้ำแข็งและเครื่องดื่มผสมน้ำแข็ง 19 ตัวอย่าง พบเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษทุกตัวอย่าง ได้ประสานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ดังกล่าว ควบคุมมาตรฐานแล้ว และขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำแข็ง หรือเครื่องดื่มผสมน้ำแข็งไปก่อน ควรดื่มน้ำดื่มสะอาดเช่นน้ำดื่มบรรจุขวดมีเครื่องหมาย อย.หรือน้ำที่ผ่านเครื่องกรองน้ำ หรือน้ำต้มสุก จะปลอดภัยกว่า
อนึ่ง โรคฉี่หนู เป็นเชื้อแบคทีเรียมีรูปร่างคล้ายเกลียว อาศัยอยู่ในฉี่ของหนู จะปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำขังต่างๆ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการป่วย ลักษณะเฉพาะโรคนี้คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะอาการปวดที่น่อง ตาแดงแต่ไม่มีขี้ตา คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว