xs
xsm
sm
md
lg

ส่ง จนท.ควบคุม “โรคอาหารเป็นพิษ” หลังพบผู้ป่วยเกือบ 100 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“วิทยา” ส่งเจ้าหน้าที่ สธ.ควบคุมโรคอาหารเป็นพิษที่ จ.ชัยนาท หลังพบผู้ป่วยนอน รพ.18 ราย สั่ง สสจ.ดูแลความปลอดภัยอาหาร น้ำดื่มแจกผู้ประสบภัยน้ำท่วม เน้นที่จุดอพยพ

จากเหตุการณ์ที่มีผู้ประสบภัยเกือบ 100 รายที่วัดบ้านหนอง หมู่ 8 ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เกิดโรคอาหารเป็นพิษ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหลังรับประทานอาหารกล่องบริจาค ซึ่งประกอบด้วย บะหมี่แห้ง ขนมจีน ข้าวกล่อง โดยเหตุเกิดเมื่อเย็นวานนี้ (1.ต.ค.)

ล่าสุด นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า หลังได้รับรายงานได้ส่งทีมแพทย์ฉุกเฉินประมาณ 10 ทีมพร้อมเรือ เข้าไปให้การช่วยเหลือผู้ป่วย นำส่งโรงพยาบาล (รพ.) ชัยนาทนเรนทร และสั่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ส่งหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ลงไปควบคุมโรคที่วัดบ้านหนองเป็นการด่วน พร้อมทั้งสั่งกำชับนายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.) จังหวัดในพื้นที่น้ำท่วมทุกแห่ง ควบคุมดูแลความปลอดภัย อาหาร น้ำดื่ม ผู้ประสบภัย โดยเฉพาะในจุดอพยพที่เป็นจุดเสี่ยงสำคัญ ที่คนอยู่รวมตัวกันจำนวนมาก และมีข้อจำกัดในเรื่องความเป็นอยู่ ทั้งน้ำดื่มสะอาด น้ำใช้ สุขา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าวว่า เหตุการณ์เมื่อวานนี้นับเป็นการป่วยพร้อมกันครั้งแรกในช่วงน้ำท่วม มีผู้ป่วยทั้งหมด 99 ราย ส่วนใหญ่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียประมาณ 3-5 ครั้งต่อราย ขณะนี้แพทย์รับตัวดูแลที่โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทรทั้งหมด 18 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ ขณะนี้ปลอดภัยทุกราย จากการสอบสวนโรค ผู้ป่วยได้รับประทานบะหมี่แห้ง ขนมจีน และข้าวกล่อง แต่ส่วนใหญ่จะรับประทานบะหมี่แห้งหมูแดง ซึ่งมีผู้นำมาบริจาคประมาณ 10.30 น. เริ่มรับประทาน 12.00 น.บางรายเก็บไว้ถึงตอนเย็น เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างอาหารทั้ง 3 ชนิด รวมทั้งอุจจาระผู้ป่วยทุกรายส่งตรวจที่โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร จะทราบผลในวันพรุ่งนี้ และเก็บเศษอาหารจากอาเจียนส่งพิสูจน์เชื้อที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์นครสวรรค์ ในวันนี้จะส่งหน่วยควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็ว 2 ทีม ไปดำเนินการควบคุมโรคซ้ำอีกที่วัดบ้านหนอง และติดตามในหมู่บ้าน ล่าสุดยังไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม โดยที่ จ.ชัยนาท มีจุดอพยพทั้งหมด 7 จุด มีผู้อพยพจุดละกว่า 100 ครอบครัว มากสุดที่ อ.สรรพยา ส่วนใหญ่อยู่ริมถนน ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ประสงค์จะบริจาคอาหารให้ผู้ประสบภัยให้หลีกเลี่ยง อาหารที่บูด เสียง่าย เช่น มีกะทิ อาหารประเภทยำ ควรเป็นอาหารปรุงสุกใหม่ ควรรับประทานภายใน 4 ชั่วโมง ส่วนผู้ประสบภัยไม่ควรเก็บอาหารไว้นานๆ ข้ามมื้ออาหาร ควรสังเกตอาหารก่อนรับประทานว่าบูดหรือไม่ หากเป็นไปได้ควรอุ่นให้ร้อนก่อน กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น