xs
xsm
sm
md
lg

ฤา จีนจะต้องการเพียงแรงงาน แต่ไม่ต้องการคน?

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

นักเรียนตัวน้อยของโรงเรียนอนุบาลซินซีวั่ง (หรือโรงเรียนความหวังใหม่) หอบเครื่องนอนของตนออกจากโรงเรียนก่อนที่โรงเรียนที่ถูกทุบ (ภาพเอเยนซี)
ASTVผู้จัดการออนไลน์--ความขัดแย้งหนึ่งในสังคมจีนที่กลุ่มสื่อจีนวิพากษ์วิจารณ์กันมากในช่วงนี้คือ สิทธิของกลุ่มแรงงานอพยพตามเมืองใหญ่ทั้งในเมืองหลวงปักกิ่งและเขตเศรษฐกิจของประเทศ ราว 200 ล้านคน กลุ่มแรงงานอพยพนี้มีส่วนอย่างสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมหัศจรรย์ของจีนยุคนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ ทว่า พวกเขากลับกลายเป็นพลเมืองชั้นสองของเมืองที่พวกเขาไปทำงานและอาศัยอยู่

ต้นตอของปัญหาเกิดจากกฎหมายสำมะโนครัวอันซับซ้อนของจีน ซึ่งเป็นมาตรหนึ่งในการสกัดการเคลื่อนย้ายของประชากรในช่วงต้นการปฏิวัติจีนใหม่ของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจการเมือง จีนเรียกสำมะโนครัวประชากรนี้ว่า”ฮู่โข่ว” (户口)ฮู่โข่วนี้จำกัดการเดินทางและโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวจีน ในยุคแรกๆของมาตรการดังกล่าว การเดินทางข้ามเขตมณฑลต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น

เมื่อจีนดำเนินนโยบายปฏิรูปเปิดประเทศ ก็ได้ผ่อนปรนมาตรการจำกัดการเดินทางโยกย้ายที่อยู่ของประชาชน เนื่องจากความต้องการแรงงานมหาศาลตามเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเมืองใหญ่ตามภาคต่างๆ คลื่นแรงงานอพยพจากเขตที่ยากจนหลั่งไหลสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจ ตัวเลขแรงงานอพยพจีนนับวันยิ่งขยายตัว โดยปัจจุบันอยู่ที่ราว 200 ล้านคน แม้มีการผ่อนปรนกฎหมายฮู่โข่ว แต่แรงงานอพยพก็ไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์อย่างเช่นสวัสดิการสังคมนอกภูมิลำเนาที่ตนมีทะเบียนฮู่โข่ว ทำให้แรงงานอพยพตกอยู่ในสภาพดั่ง “พลเมืองชั้นสอง” ในเมืองใหญ่ที่พวกเขาไปอาศัยทำงานมาตลอดนับสิบๆปีที่ผ่านมา

ปัญหาดังกล่าวปะทุเป็นข่าวครึกโครกในสื่อจีนและสังคมออนไลน์จากกรณีที่ปักกิ่งเริ่มกวาดล้างโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนสำหรับลูกแรงงานอพยพ เนื่องจากเป็นโรงเรียนเถื่อน เจ้าหน้าที่ในหน่วยเทศบาลเมืองฯเผยว่าเมื่อส.ค. ได้ปิดโรงเรียนที่ไม่มีใบอนุญาต 43 แห่ง

ทั้งนี้ ราว 1 ใน 10 ของลูกคนงานต่างถิ่นที่อาศัยในปักกิ่ง 430,000 คน เรียนอยู่ในโรงเรียนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล ส่วนที่เหลือได้เรียนอยู่ในโรงเรียนของรัฐหรือโรงเรียนที่ได้รับใบอนุญาต

นักเรียนต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน

เซี่ย ฉังเซิง ทิ้งภูมิลำเนาในเขตชนบทมาทำงานในกรุงปักกิ่ง 11 ปี เพื่อสร้างชีวิตที่ดีกว่า เซี่ยทำงานเป็นคนงานขับรถของโรงเรียนสำหรับลูกแรงงานอพยพแห่งหงซิง ที่ตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของปักกิ่ง ภรรยาของเขาก็ทำงานที่นี่ ลูกชายวัย 5 ขวบ และลูกสาววัย 6 ขวบ ของพวกเขาก็เรียนอยู่ที่นี่เช่นกัน เมื่อโรงเรียน ถูกรื้อถอน เขาก็จำต้องกลับบ้านเกิด
โรงเรียนลูกคนงานต่างถิ่นกว่า 30 แห่ง ได้รับประกาศปิดโรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนฯในเขตต้าซิง เฉาหยัง ไห่เตี้ยน ซึ่งมีนักเรียน ร่วม 30,000 คน ในภาพ:ผู้ปกครองเด็กนักเรียนคนหนึ่งของโรงเรียนความหวังใหม่ นอนกลางถนน ตระโกนก้อง “พวกเราก็สร้างประโยชน์ให้ปักกิ่งด้วยเหมือนกัน” (ภาพเอเยนซี)
สำหรับกลุ่มโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนแก่ลูกแรงงานอพยพ ก็เป็นผลพวงจากกฎหมายสำมะโนครัว แรงงานอพยพที่สำมะโนครัวยังอยู่ที่ภูมิลำเนา ไม่คุณสมบัติที่จะได้รับฮู่โข่ว หรือใบอนุญาตอยู่อาศัยใดๆในเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่ และด้วยไม่มีเอกสารเหล่านี้ ลูกๆของพวกเขาก็ขาดคุณสมบัติที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐ ทำให้พวกเขาต้องส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนสำหรับแรงงานลูกอพยพ ที่ไม่เก็บค่าเล่าเรียน ซึ่งก็เป็นเพียงทางเดียวของพวกเขา

“ก็ในเมื่อโรงเรียนเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาที่รัฐบาลแก้ไขไม่ได้ พวกเขาละเมิดกฎหมายใดหรือ?

“ขณะนี้ ผมรู้สึกเหมือนถูกต้อนให้จนมุม รู้สึกว่าสังคมนี้ปฏิบัติต่อผมอย่างอยุติธรรม และผมก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากกลับบ้านเกิดของผม ” เซี่ย วัย 38 ปี กล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยอารมณ์และเสียงสั่นเครือ

สื่อของรัฐได้รายงานเหตุผลที่ทางการปักกิ่งปิดโรงเรียนเหล่านี้ว่าเนื่องจากความปลอดภัยอาหารไม่ได้มาตรฐาน และความปลอดภัยอื่นๆ
ในแต่ละเขตของกรุงปักกิ่ง มีวิธีแก้ปัญหาสำหรับลูกคนงานต่างกัน อาทิ เขตเฉาหยังกำหนดให้ผู้ปกครองนักเรียนสามารถดำเนินขั้นตอนขอ ‘ใบอนุญาตเรียนชั่วคราว’ในเขตที่อาศัยอยู่ปัจจุบัน ก็สามารถเข้าโรงเรียนของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากไม่มีใบอนุญาตเรียนชั่วคราวเด็กๆก็อาจถูกส่งไปเรียนในโรงเรียนในสังกัดของคณะกรรมการการศึกษา โดยมีค่าใช่จ่าย 350 หยวนต่อหนึ่งเทอม อุปกรณ์การเรียนการสอนฟรี

สำหรับนักเรียนคนอื่นๆบ้างก็ย้ายไปเรียนโรงเรียนลูกคนงานต่างถิ่นแห่งอื่น ขณะที่อีกหลายคนต้องหยุดเรียนกลางคันและไปช่วยพ่อแม่ทำงานเลี้ยงชีพ
แรงงานอพยพบ่ายหน้าหอบข้าวของเข้าเมืองหาเลี้ยงชีพ(ภาพเอเยนซี)
ก่วงตงปฏิรูประบบอยู่อาศัยให้คนรวยมากกว่า

ก่วงตง หรือที่ชาวไทยคุ้นในชื่อกวางตุ้ง เป็นเขตเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูแห่งภาคใต้จีน มีแรงงานอพยพ 37 ล้านคน เมื่อเร็วๆนี้ ก่วงโจว (หรือกวางเจา) และเซินเจิ้น ได้ผ่อนผันกฎเหล็กโดยกำหนดให้คนงานต่างถิ่นทำคะแนนหรือทำแต้มเพื่อได้ใบรับรองการอยู่อาศัยในเมือง หรือฮู่โข่ว แต่แล้วมาตรการนี้ก็ถูกกลุ่มสื่อวิจารณ์เละว่าเปิดโอกาสให้กับกลุ่มคนที่มีโอกาสหรือคนรวยมากกว่า

อาทิ ก่วงโจว กำหนดว่าผู้ที่ลงทุนในบริษัทท้องถิ่น สูงถึง 5 ล้านหยวน จะได้ 20 คะแนน และอีก 20 คะแนน สำหรับคนที่ครองกรรมสิทธิอสังหาริมทรัพย์ในเมือง ส่วนผู้ยื่นคำร้องขอฮู่โข่วในเซินเจิ้นตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมาจะได้รับคะแนนพิเศษหากมีผลงานนวัตกรรม และผู้ที่กำลังศึกษาระดับวิทยาลัย หรือผู้อาศัยเขตชนบทของก่วงตง ก็จะได้รับคะแนนเพิ่ม

สำหรับคนงานตามโรงงานหรือการศึกษาน้อย หนทางทำคะแนนของพวกเขาคือ บริจาคเลือดหรือช่วยงานสาธารณะ สื่อท้องถิ่นเผยว่าในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา คุณพ่อในก่วงโจวผู้หนึ่ง ได้บริจาคเลือดไปถึง 3 ครั้ง และยังต้องลาออกจากงานกลับบ้านเกิดที่เสฉวนเพื่อไปเอาเอกสารที่จำเป็นสำหรับให้ลูกชายสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยท้องถิ่น แต่ก็ล้มเหลวเพราะคุณสมบัติที่จะได้รับฮู่โข่วยังไม่เพียงพอ เขาสะสมคะแนนได้ 98 คะแนน ขณะที่กฎกติกากำหนดให้ผู้มีคุณสมบัติได้รับใบฮู่โข่ว สะสมคะแนนได้อย่างต่ำ 130 คะแนน

แรงกระตุ้นในการปฏิรูประบบการอยู่อาศัยนี้ได้เกิดขึ้นตามเมืองต่างๆทั่วประเทศจีน กฎเหล็กของระบบการอยู่อาศัยในจีนทำให้ประชาชนมากกว่า 200 ล้านคน กลายเป็นพลเมืองชั้นสองในเขตที่พวกเขาไม่มีฮู่โข่ว ระบบที่แบ่งประชาชนเป็นสองชั้นนี้เองได้สร้างความไม่พอใจในหมู่กลุ่มคนงานรุ่นใหม่ และความไม่พอใจนี้ได้ขยายวงในช่วงที่มณฑลเหล่านี้กำลังประสบภาวะขาดแคลนแรงงาน

ไจ๋ อี้ว์จวน อาจารย์สาขาวิชากฎหมายแห่งมหาวิทยาลับเซินเจิ้น วิจารณ์ระบบทำคะแนนของก่วงตง ว่า “ไร้ความเป็นมนุษย์” เนื่องว่ามันได้เรียกร้องให้กลุ่มประชาชนที่ยากจนทุ่มเทจนแทบหมดเนื้อหมดตัว “แน่นอน การกำหนดนโยบายนี้ ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย แต่เป้าหมายก็มุ่งช่วยชนชั้นนำมากกว่า”

เจ้าหน้าที่เซินเจิ้นบอกว่า ขณะนี้มีกลุ่มแรงงานอพยพที่เข้ามาสะสมคะแนนทางออนไลน์ 20,000 คน และตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นมา มีกลุ่มแรงงานอพยพ ร่วม 10,000 คน ที่ยื่นขอใบอนุญาตอยู่อาศัย ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว มีผู้ได้รับใบอนุญาตอยู่อาศัย 4,600 คน และคาดว่าปีนี้จำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตอาศัยในเมืองนี้ จะเพิ่มเป็นสองเท่า

แต่ก็ยังนับเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานอพยพ

ทั้งหมดในเซินเจิ้น ที่มีจำนวนถึง 12 ล้านคน ในกลุ่มประชากรของเมืองทั้งหมด 14 ล้านคน

การปฏิรูปฮู่โข่วตามเมืองต่างๆในจีนยังไม่มีเอกภาพ เจ้าหน้าที่เทศบาลนครฉงชิ่งเผยว่า มีประชาชนราว 2.2 ล้านคนได้รับใบอนุญาตอาศัยหลังจากที่เทศบาลฯได้กำหนดนโยบายฮู่โข่วใหม่เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ฉงชิ่งได้กำหนดขอบข่ายกติกาไว้อย่างกว้างขวาง กลุ่มที่เคลือบแคลงสงสัยชี้ว่า ผู้ที่ได้รับรองสิทธิอาศัยในเมือง ไม่น่าเป็นกลุ่มแรงงานอพยพจริงๆ แต่มาจากเขตใกล้เคียงมากกว่า ทั้งนี้ ฉงชิ่งมีประชากร 30 ล้านคน รวมทั้งประชากรในเขตชนบท

ผู้สังเกตการณ์ชี้ว่าการปฏิรูปฯในก่วงโจวและเซินเจิ้น เป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล ที่ต้องการให้กลุ่มแรงงานอพยพกลายเป็นผู้อาศัยในเมืองมากขึ้น

สำหรับปักกิ่งควรยกเลิกระบบฮู่โข่วอย่างสิ้นเชิง และปฏิบัติต่อผู้อาศัยในเมืองทั้งหมดอย่างเท่าเทียม หลิว ไคหมิง นักรณรรงค์สิทธิแรงงานกล่าว มิฉะนั้นแล้ว กลุ่มรัฐบาลท้องถิ่น ที่ไม่ยินดีให้สิทธิประโยชน์ใดแก่แรงงานอพยพ ก็จะเผชิญเสียงโจมตี ว่า “ต้องการแรงงาน แต่ไม่ต้องการประชาชน”.
กำลังโหลดความคิดเห็น