ในช่วงเวลาน้ำท่วมเมือง อาหารเป็นปัจจัยแรกที่ทุกคนต่างกลัวว่าจะขาดแคลน ผู้คนจึงพากันกักตุนอาหารที่คิดว่าจำเป็นต่อการยังชีพ นี่เป็นสาเหตุให้เกิดการขาดแคลนน้ำดื่มและอาหารสะดวกรับประทานซึ่งไม่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยากในการประกอบเป็นอาหาร
อาหารที่ผู้คนส่วนใหญ่เลือกกักตุนคือ อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกระป๋อง อาหารกระป๋องในน้ำเกลือ เช่น ปลากระป๋อง ผักดองกระป๋อง ขนมขบเคี้ยวที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบสูง อาหารที่มีไขมันสูง เช่น กุนเชียง หมูหยอง อาหารทอดน้ำมัน น้ำอัดลม โดยที่ไม่รู้ว่าอาหารประเภทเหล่านี้ถ้ารับประทานในปริมาณมากและเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารและทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน และผู้สูงอายุ การขาดสารอาหารจะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยและติดเชื้อโรคได้ง่าย สำหรับกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ก็จะยิ่งทำให้อาการของโรคแย่ลงไปอีก ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพตามมาหลังจากน้ำลดหรือในกรณีเจ็บป่วยในขณะที่น้ำยังท่วมอยู่ก็จะทำให้ลำบากมากขึ้นในการเดินทางไปหาหมอหรือหายามารักษา
คำแนะนำสำหรับอาหารที่ดีและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในยามน้ำท่วม
• น้ำดื่มสะอาดร่างกายควรได้รับน้ำในแต่ละวันเฉลี่ยประมาณ 2-3 ลิตร หรือ 8 แก้วต่อวัน
• ซีเรียล ธัญพืชอบแห้ง หรือข้าวอบแห้ง เช่น ซีเรียลที่นิยมรับประทานเป็นอาหารเช้า ควรใส่รวมกับนมหรือนมถั่วเหลืองหรือหากใส่ผลไม้เพิ่มก็ยิ่งมีประโยชน์มากขึ้น ซีเรียลควรที่จะเป็นชนิดโฮลเกรน น้ำตาลและไขมันต่ำ ข้าวอบแห้งที่สามารถหาได้ง่ายๆ ในบ้านเรา ได้แก่ข้าวตังหน้าธัญพืช ลูกเดือยอบกรอบ ข้าวพอง ข้าวแต๋น
• เมล็ดธัญพืชพร้อมรับประทาน เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ถั่วแดงกระป๋อง หรือจะเป็นธัญพืชอัดแท่งก็ได้ อาหารในกลุ่มนี้จะให้พลังงานสูงและทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นาน
• ถั่วเปลือกแข็งเช่น อัลมอนด์ แมกคาเดเมีย พิสตาชิโอ วอลนัท พีแคน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสง อาหารในกลุ่มนี้ให้คุณค่าทางอาหารสูงเนื่องจากมีไขมันไม่อิ่มตัว โปรตีน ใยอาหาร และสารพฤกษาเคมีที่ช่วยขับสารอนุมูลอิสระที่จะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ลดระดับไขมันในเลือดและควบคุมระดับในตาลในเลือดให้คงที่ซึ่งดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน
• เส้นหมี่แห้งก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของอาหารประเภทข้าวแป้งที่สะดวกในนำมาปรุงประกอบอาหาร ในกรณีที่ไม่มีไฟฟ้าและมีเพียงเตาถ่านหรือเตาแก๊ส เส้นหมี่จะช่วยเราประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่มีอยู่จำกัด แค่นำเส้นหมี่มาแช่น้ำก็สามารถนำมาผัด หรือต้มก็ได้ตามชอบ
• ข้าวเหนียวเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างข้าวสวยกับข้าวเหนียว ข้าวเหนียวจะสามารถทำให้อิ่มได้นานกว่าและมีอายุการเก็บรักษาได้นาน ข้าวสวยปกติจะเก็บได้ 4-5 ชั่วโมงก็จะเริ่มบูด ในขณะที่ข้าวเหนียวเก็บได้ประมาณ 1 วันและเหมาะกับการนำเป็นอาหารกล่องไปแจกให้กับผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมโดยแยกข้าวเหนียวกับตัวกับข้าวคนละถุงกันก็จะทำให้อาหารเก็บได้นานขึ้นอีก
• เนื้อสัตว์แห้งหรือกระป๋องเช่นปลากรอบ หมูฝอย เนื้อฝอยโปรตีนเกษตรพร้อมรับประทานแผ่นแห้ง รวมถึงสาหร่ายอบแห้ง เหล่านี้เป็นแหล่งของโปรตีนที่ดี
• น้ำมันพืช เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง
• ขนมปังกรอบแห้ง จะเก็บได้นานกว่าขนมปังสดเนื่องจากอายุการเก็บของขนมปังโดยทั่วไปอยู่ประมาณ 3-7 วัน ก็จะเกิดเชื้อราขึ้นแม้ว่าจะตัดบริเวณที่เป็นเชื้อราทิ้งไปแล้วก็ไม่ควรที่จะรับประทานเพราะเชื้อราส่วนใหญ่จะแพร่กระจายไปทั่วแม้ว่าจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
• น้ำผลไม้ 100% หรือน้ำสมุนไพรกระป๋องเช่นน้ำส้ม น้ำมะเขือเทศ น้ำแอปเปิ้ล น้ำองุ่น ดื่มแทนน้ำหรือแทนผลไม้สด
• นม นมถั่วเหลือง หรือผลิตภัณฑ์ธัญพืชพร้อมดื่มบรรจุกล่อง ในภาวะที่น้ำท่วมและอาหารขาดแคลนการเลือกเครื่องดื่มเช่น นมกล่องอาจเลือกประเภทที่มีไขมันปกติหรือนมที่ให้พลังงานสูงเพราะจะทำให้อิ่มได้นาน 3-4 ชั่วโมงและให้ของเหลวแก่ร่างกายแทนที่น้ำได้บางส่วน
• น้ำผึ้ง น้ำหวานหรือลูกอมเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ควรเก็บกักตุนไว้บ้างเพราะพื้นฐานของร่างกายจะต้องการน้ำตาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมอง หากไม่มีอาหารอย่างอื่นรับประทานได้แล้วและไม่มีแรงหรือรู้สึกจะเป็นลม ให้รับประทานน้ำผึ้ง น้ำหวาน หรือลูกอมก็จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคเบาหวานควรมีลูกอมหรือน้ำหวานแบ่งใส่ขวดเล็กๆเอาไว้ใช้เมื่ออยู่ในภาวะขาดน้ำตาล
• ช็อกโกแลตแบบดำ หรือ Dark Chocolate ก็เป็นสิ่งที่ควรมีติดบ้านไว้บ้าง เนื่องจากในโกโก้มีสารฟลาโวนอยด์ที่ช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระสารคาเฟอีนเล็กน้อยทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า และมีสารที่ช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินทำให้มีอารมณ์ดีและลดความเครียดลงได้
• ถั่วเขียวดิบ เป็นโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตชั้นดี สามารถน้ำมาต้มกับน้ำตาลเพื่อให้พลังงานทำให้อิ่มได้นานหรือจะใช้ถั่วเขียวมาเพาะเป็นถั่วงอกก็ได้หากไม่มีผักจะรับประทาน
• ผักที่เก็บได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น เช่นกระเทียม หัวหอม แครอท ฟักเขียว ฟักทองกะหล่ำปลีมันฝรั่งหรือจะเป็นผักอบแห้ง เช่น มะเขือเทศแห้ง หรือผักที่ผ่านกระบวนการทำให้แห้งแบบ Freeze – Dry ผักจะมีลักษณะแห้งและกรอบ เช่น ถั่วฝักยาว แครอท บล็อกโคลี่ กระเจี๊ยบ
• ผลไม้ที่เก็บได้นาน เช่น กล้วย(เลือกแบบที่ยังเขียวอยู่จะสามารถเก็บได้ 1 อาทิตย์) ส้มแอปเปิ้ล หรือจะเป็นผลไม้แห้ง เช่น ลูกพรุน ลูกเกด ฝรั่งอบแห้ง มะม่วงกวน มะม่วงอบแห้งมะขามแห้งเป็นต้น
• น้ำพริกแห้งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนำมาคลุกกับข้าวเพื่อเพิ่มรสชาติและได้ประโยชน์จากพริกที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น และมีวิตามินซี
• สมุนไพรตากแห้ง หรือสมุนไพรป่นในขวดที่วางขายกันอยู่ เช่น พริกไทย ขมิ้น ใบมะกรูด ตะไคร้ผง ข่าผง เป็นต้น หากจะนำมาปรุงประกอบอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติก็ทำได้ง่ายและยังเพิ่มคุณค่าให้กับอาหารอีกด้วย
ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล
อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล