xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำดื่ม” สิ่งขาดแคลนในภาวะน้ำท่วม / ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในภาวะวิกฤตน้ำท่วม แม้จะมีน้ำเจิ่งนองมากมาย แต่สิ่งที่ขาดแคลนในขณะนี้และมีความจำเป็นในการดำรงชีวิต คือ น้ำดื่ม ภาวะน้ำท่วมนี้น้ำดื่มเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งและไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนที่ต้องการน้ำดื่มที่สะอาดเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาความขาดแคลนน้ำดื่ม

ดังนั้น หากเรารู้ที่จะใช้น้ำดื่มอย่างถูกต้องก็จะทำให้เราใช้น้ำดื่มที่มีอยู่น้อยให้มีประโยชน์มากที่สุด ร่างกายของคนเราประกอบด้วยน้ำมากถึง 70% กลไกต่างๆ ของร่างกายต้องการน้ำในการทำงานทั้งระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ระบบควบคุมอุณหภูมิ ระบบเผาผลาญพลังงาน และขับของเสีย เป็นต้น ปริมาณน้ำที่ร่างกายควรได้รับแต่ละวันเฉลี่ยประมาณ 2-3 ลิตร หรือ 8 แก้วต่อวันในภาวะปกติ แต่หากอยู่ในภาวะที่ผิดปกติก็ต้องการน้ำมากขึ้น เช่น เป็นไข้ เสียเหงื่อ ท้องเสีย อาเจียน ออกกำลังกาย มีกิจกรรมตลอดเวลา อยู่ในที่อากาศร้อน และการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้องจะทำให้สูญเสียน้ำมากขึ้น

สัญญาณเตือนภัยเมื่อร่างกายขาดน้ำ : สิ่งที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ ปากจะแห้ง โดยเฉพาะบริเวณริมฝีปาก น้ำลายเหนียว มีอาการหิวน้ำ ผิวแห้ง ปวดหัว หน้ามืด ไม่มีแรง หากวัดความดันโลหิตจะพบว่าความดันโลหิตต่ำและเสี่ยงต่อการเป็นลม คิดอะไรไม่ค่อยออก กล้ามเนื้อเกร็ง ตะคริว ซึมเศร้า เซื่องซึม หงุดหงิด เบื่ออาหาร ปัสสาวะมีสีเข้มหรือปัสสาวะน้อยมาก มีรอยคล้ำบริเวณใต้ตา

ผลเสียเมื่อร่างกายขาดน้ำ : ร่างกายไม่สามารถขับของเสียและความร้อนออกนอกร่างกายได้ อวัยวะภายในจะต้องทำงานหนักขึ้นโดยเฉพาะหัวใจ ไต และสมอง ร่างกายจะเกิดการอักเสบและติดเชื้อได้ง่าย อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นทำให้เป็นไข้ เกิดแผลร้อนในที่ช่องปากร่วมกับอาการเจ็บคอ ท้องผูก โรคนิ่ว โรคเครียด และ โรคทางเดินอาหารอักเสบ เป็นต้น

ข้อควรรู้เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำในร่างกาย

• ดื่มน้ำสะอาด, น้ำผลไม้ 100%, นม, น้ำซุป

• อย่าดื่มน้ำดื่มที่เย็นจัดเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะ และลำไส้หดเกร็ง จึงดูดซึมได้ไม่ดี เพราะฉะนั้น พอดื่มน้ำเย็นไม่นาน น้ำที่ดื่มเข้าไปส่วนใหญ่ก็จะถูกขับออกมาเป็นปัสสาวะ ร่างกายก็เท่ากับสูญเสียน้ำไปอีก

• หากสูญเสียน้ำหรือไม่ได้รับน้ำเป็นเวลานาน เมื่อได้ดื่มน้ำไม่ควรที่จะดื่มทีละมากๆ ควรที่จะค่อยๆดื่ม เพราะหากดื่มน้ำเร็วจนเกินไปร่างกายน้ำในเซลล์และนอกเซลล์ขาดความสมดุล ส่งผลให้น้ำในเลือดสูง อาจทำให้เป็นตะคริว กล้ามเนื้อเกร็ง หมดแรง และสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงและโรคไต ก็อาจก่อให้เกิดการคั่งน้ำได้ ในการดื่มน้ำควรให้น้ำผ่านริมฝีปากไปด้วยเนื่องจากผิวบริเวณริมฝีปากจะเป็นตัวหนึ่งที่ส่งไปถึงสมองว่าร่างกายได้รับน้ำแล้วจะทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้น

• หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทที่มีคาเฟอีนสูงเช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เนื่องจากเครื่องดื่มประเภทนี้จะทำให้ร่างกายมีความต้องการน้ำมากยิ่งขึ้นเพราะเป็นตัวขับน้ำออกจากร่างกายมากกว่าเครื่องดื่มที่ไม่มีคาเฟอีนแม้ว่าเครื่องดื่มประเภทนี้จะให้ความรู้สึกสดชื่นก็ตาม

• อาหารที่มีใยอาหารสูงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีแต่ในยามที่น้ำขาดแคลนจะยิ่งทำให้ร่างกายต้องการน้ำมากยิ่งขึ้นดังนั้นจึงไม่ควรทานมากนัก

• หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพราะร่างกายจะพยายามขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายโดยทางปัสสาวะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ที่มีอยู่ในร่างกายที่เหลือด้วย

• หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มหรือมีเกลือสูงเนื่องจากปริมาณของโซเดียมที่มีอยู่ในเกลือจะไปรบกวนสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายเมื่อร่างกายต้องการปรับสมดุลย์ให้เหมือนเดิมจึงต้องการน้ำมากขึ้น ทำให้หิวน้ำเมื่อทานอาหารเค็ม

• หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เนื่องมาจากจะไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นร่างกายก็จะต้องการน้ำสะอาดเข้าไปทดแทนเพื่อให้ความเข้มข้นลดลง

• เลือกบริโภคอาหารที่มีปริมาณของน้ำหรือของเหลว เช่น ผัก ผลไม้สด ที่มีน้ำกว่า 80% เป็นส่วนประกอบเช่น กะหล่ำปลี มะเขือเทศ มะเขือยาว ผักกาดแก้ว แตงกวา ผักคะน้า มะละกอดิบ สัปปะรด ฝรั่ง แครอท ส้ม แคนตาลูป แตงโม นอกจากจะได้น้ำแล้ว อาหารเหล่านี้ช่วยให้ร่างกายได้รับสารพฤกษาเคมีที่เป็นตัวต่อต้านอนุมูลอิสระ และช่วยให้ร่างกายควบคุมสมดุลย์ของน้ำในร่างกายได้ดี

• หากรู้สึกว่าร่างกายมีการขาดน้ำและมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ ก่อนการดื่มน้ำควรเติมผลไม้รสเปรี้ยว เช่น การบีบมะนาว หรือ ผสมกับน้ำส้ม จะทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นและอาการขาดน้ำนั้นจะหายไปได้เร็วขึ้น เพราะในผลไม้รสเปรี้ยวจะมีวิตามินซี และมีกลิ่นที่ส่งผลให้สมองผ่อนคลาย ทำให้อารมณ์ดี ลดความเครียดของร่างกายลง

น้ำดื่มสะอาดยามน้ำท่วม

• พยายามเลือกน้ำดื่มจากแหล่งน้ำที่สะอาดและน่าเชื่อถือเพราะการดื่มน้ำที่ไม่ถูกสุขลักษณะของวิธีการเก็บน้ำดื่ม อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยตามมาได้ เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ โรคบิด อาหารเป็นพิษ ไวรัสตับอักเสบ ชนิดเอ ไทฟอยด์

• สังเกตน้ำก่อนดื่มโดยหากน้ำดื่มมีตะไคร่น้ำ เมือก น้ำมีตะกอน สีคล้ำ ขุ่น ไม่ควรที่จะดื่มหรือหากไม่สามารถเลือกได้จริงๆ ให้นำน้ำนั้นผ่านเครื่องกรองน้ำ แต่หากไม่มีที่กรองน้ำก็ใช้สารส้มกวนให้ตกตะกอนและให้ใช้ผ้าขาวบางหรือผ้าที่สะอาดนำมาซ้อนสัก 2-3 ชั้นแทนที่กรองน้ำแล้วนำน้ำนั้นไปต้มก่อนดื่ม

• หากดื่มน้ำแล้วรู้สึกถึงอาการผิดปกติทำให้ปวดหัว คลื่นไส้ หรือใจสั่น ให้กินยาถ่าน Activated charcoal จะช่วยในการดูดพิษในร่างกายได้บ้างส่วนหนึ่ง และควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล
อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล

กำลังโหลดความคิดเห็น