xs
xsm
sm
md
lg

มติคณะอนุ กก.แพทยสภา ชี้ “สิทธิตาย” ขึ้นกับดุลพินิจแพทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มติคณะอนุ กก.แพทยสภา  ชี้ “วาระสุดท้ายของชีวิต” ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เหตุไม่สามารถจำกัดความได้ พร้อมยื่น “วิทยา” แก้กฎกระทรวง 3 กรณี

       จากกรณีมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้รับรองสิทธิของบุคคลในการแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย จนมีการออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนา ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 ส่งผลให้เกิดเสียงคัดค้าน  กระทั่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  ร่อนหนังสือถึงรพ.ในสังกัดระงับคำแนะนำกรณีใช้สิทธิการตาย  ขณะที่แพทยสภาได้หารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ประเด็น วาระสุดท้ายของชีวิต เพื่อจำกัดความให้ชัดเจนขึ้นนั้น

      ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ศ.คลินิก นพ.อำนาจ  กุสลานันท์ นายกแพทยสภา  ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างข้อบังคับในการวินิจฉัยคำว่า วาระสุดท้ายของชีวิต   กล่าวถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการพิจารณาคำจำกัดความ “วาระสุดท้ายของชีวิต”  เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ว่า  จากการประชุมของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว  มีมติไม่สามารถกำหนดแนวทางคำจำกัดความ “วาระสุดท้ายของชีวิต” ได้ เนื่องจากความหมายค่อนข้างยากต่อการครอบคลุมโรคทุกชนิด และยากต่อการกำหนดเป็นแนวปฏิบัติให้แพทย์ได้ดำเนินการจริง ดังนั้น การพิจารณาว่าอยู่ในข่าย “วาระสุดท้ายของชีวิต” หรือไม่ ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมการ เสนอว่า ควรมีการแก้กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนา  ซึ่งออกตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ เนื่องจากกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดคำว่า วาระสุดท้ายของชีวิต ไม่ชัดเจน และอาจไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วย

      “จากนี้คณะอนุกรรมการจะเสนอให้คณะกรรมการแพทยสภา (บอร์ดแพทยสภา) พิจารณา ก่อนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อร้องขอแก้กฎกระทรวงต่อไป  โดยเนื้อหาในการแก้กฎกระทรวงมีทั้งหมด 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.แก้ไขคำจำกัดความคำว่า “วาระสุดท้ายของชีวิต” โดยตัดคำว่าภาวะที่มีการสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรของเปลือกสมองใหญ่ ที่ทำให้ขาดความสามารถในการรับรู้ติดต่อสื่อสารอย่างถาวร โดยปราศจากพฤติกรรมการตอบสนองใดๆ มีเพียงปฏิกิริยาสนองตอบอัตโนมัติทันที หรือเรียกง่ายๆ ให้ตัดกรณีผู้ป่วยที่มีสภาพเหมือนผักถาวร เพราะภาวะดังกล่าวผู้ป่วยอาจไม่ถึงขั้นเสียชีวิต นอกนั้นให้คงเดิม”  ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กล่าว

      2.คำจำกัดความ “การทรมานจากการเจ็บป่วย”  เดิม กำหนดว่า เป็นความทุกข์ทรมานทางกายหรือทางจิตใจ ของผู้ทำหนังสืออันเกิดจากการบาดเจ็บ หรือจากโรคที่ไม่สามารถรักษาหายได้ ควรแก้ไขโดยตัดเรื่องความทรมานทางจิตใจออก เนื่องจากความทรมานทางจิตใจเพียงอย่างเดียวไม่อาจรวมว่าได้รับความทรมานจาก การเจ็บป่วยทั้งหมด ดังนั้น ควรแก้ไขเป็นความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ โดยรวมทั้งสองอย่างไว้ด้วยกัน   และ   3.ควรแก้ไขข้อกำหนดสถานที่ในการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ  โดยให้มีการทำหนังสือได้ในสถานที่ 4 แห่งเท่านั้น คือ โรงพยาบาลที่คนไข้รักษาตัว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)   จากเดิมกำหนดเพียงสถานบริการสาธารณสุขเท่านั้น

     “หากสุดท้ายไม่มีการแก้กฎกระทรวงจริง ก็เชื่อว่า แพทย์ส่วนใหญ่ไม่ยอมปฏิบัติตามข้อกำหนดแน่ๆ เนื่องจากไม่ชัดเจน เรื่องนี้แพทยสภา มีทางออกโดยได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้แก่แพทย์เมื่อได้รับ หนังสือแสดงเจตนาฯ  และได้กระจายส่งไปให้แพทย์ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยแนวทางดังกล่าว มีทั้งแพทย์ต้องแน่ใจว่าหนังสือดังกล่าวมีหลักฐาน ยืนยันว่า กระทำโดยผู้ป่วยจริง และกระทำขณะมีสติ การวินิจฉัย “วาระสุดท้ายของชีวิต” ให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ไม่แนะนำให้ถอดถอนการรักษาที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว เป็นต้น” นายกแพทยสภา กล่าว

 ทั้งนี้ ในการประชุมคณะอนุกรรมการดังกล่าว ประกอบไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัย 14 แห่ง   ได้แก่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย  ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยแพทย์ออโธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิก แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยเวชศาสตร์ครอบครัว ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์ ราชวิทยาลัยเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย  และราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น