วธ.ขึ้นทะเบียนสุดยอดหนังไทย พระเจ้ากรุงสยามเสด็จฯ ถึง,กรุงเบิร์น พิธีบรมราชาภิเษก ร.7,พระเจ้าช้างเผือก,น้ำท่วมกรุงเทพ,แผลเก่า,ทวิภพ,มนต์รักลูกทุ่ง,ลูกอีสาน,ลุงบุญมีระลึกชาติ,สุดสาคร 25 เรื่องเป็นมรดกของชาติ ประจำปี2554 ไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้ พร้อมตั้งเงินทุนอนุรักษ์หนังเก่า
วันนี้ (7 ต.ค.) นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า จากการที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดทำโครงการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2554 ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยนั้น ขณะนี้คณะกรรมการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ จำนวน 25 เรื่อง ได้แก่
1.การต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า พ.ศ.2518 2.คล้องช้าง พ.ศ.2481 3. ทองปาน พ.ศ.2520 4.ทวิภพ พ.ศ. 2547 5. โทน พ.ศ. 2513 6.นิ้วเพชร พ.ศ. 2501 7.น้ำท่วมกรุงเทพ พ.ศ. 2485 8.บันทึกเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 9.ผีตองเหลือง พ.ศ. 2505 10.ผีเสื้อและดอกไม้ พ.ศ. 2528 11.แผลเก่า พ.ศ. 2520 12.พระเจ้ากรุงสยามเสด็จฯ ถึงกรุงเบิร์น พ.ศ. 2440 13.พระเจ้าช้างเผือก พ.ศ. 2484 14.พระราชพิธีเฉลิมกรุงเทพมหานครและพระราชวงศ์จักรีอันประดิษฐานมาครบ 150 ปี พ.ศ. 2475 15.พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2468
16.ไฟเย็น พ.ศ. 2508 17.ประมวลภาพเห็นการณ์สูญเสียพระเอกผู้ยิ่งใหญ่ มิตร ชัยบัญชา พ.ศ. 2513 18.มนต์รักลูกทุ่ง พ.ศ. 2513 19.รัฐประหาร 2490 พ.ศ. 2490 20.โรงแรมนรก พ.ศ. 2500 21.ลุงบุญมีระลึกชาติ พ.ศ. 2553 22.ลูกอีสาน พ.ศ. 2525 23.สุดสาคร พ.ศ. 2522 24.อนุทินวีรชน 14 ตุลา พ.ศ. 2517 และ25.! อัศเจรีย์ พ.ศ. 2520
ซึ่งภาพยนตร์ทั้ง 25 เรื่องเป็นผลงานของคนไทย หรือเกี่ยวกับคนไทยและชาติไทย นอกจากนี้ หอภาพยนตร์ยังได้จัดสรรเงินทุนอนุรักษ์ภาพยนตร์ของชาติไว้ส่วนหนึ่งไว้ด้วย ซึ่งตนเห็นว่า งานอนุรักษ์ภาพยนตร์ที่เป็นมรดกของชาตินี้ ไม่อาจปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของหอภาพยนตร์แต่ลำพัง เพราะมรดกใดๆ ของชาติก็ดี เป็นเรื่องที่เราทุกคนในชาติต้องมีความตระหนักรู้คุณค่า รู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อย ในการอนุรักษ์มรดกเหล่านี้ เพื่อให้ตกทอดสู่ลูกหลานของเราต่อไป
ด้านนายโดม สุขวงศ์ ผอ.หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดทำโครงการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกภาพยนตร์ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งได้แก่ ภาพยนตร์ที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ความทรงจำ สังคม ศิลปะ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้ และสร้างหลักประกันว่าภาพยนตร์ที่สมควรเป็นมรดกของชาตินั้น จะได้รับการอนุรักษ์อย่างทันการณ์ ถูกต้องเหมาะสม และยั่งยืน ตลอดจนจะได้รับการจัดเตรียมไว้บริการให้สาธารณชนได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าอย่างสะดวก และแพร่หลาย
“ในอดีตเมื่อ 45 ปีมาแล้ว คือ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ปี2509 มีการประชุมของคณะอนุกรรมการด้านสื่อสารมวลชน ในคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ทรงเป็นประธาน จัดประชุมกันที่สถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม ที่ประชุมมีมติเสนอให้หอสมุดแห่งชาติเปิดแผนกเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้ยุวชนได้เข้าศึกษาค้นคว้าอย่างสะดวก องค์ประธานและอนุกรรมการบางท่าน ได้แสดงเจตนาจะบริจาคฟิล์มภาพยนตร์สำคัญจำนวนหนึ่งเป็นประเดิมแก่หอสมุดด้วย วันนี้จึงเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์การอนุรักษ์ภาพยนตร์ของชาติ อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะทำต่อเนื่องไปทุกปี เริ่มต้นในปี 2554 โดยกำหนดให้วันที่ 4 ตุลาคม ของทุกปี มีการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติต่อเนื่องทุกปี” ผอ.หอภาพยนตร์ กล่าว