xs
xsm
sm
md
lg

เปาวลี (พุ่มพวง) : เธอคือหนูนา-หนึ่งธิดา แห่งปี 2554/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


หลังจากสร้างวีรกรรมไว้กับหนังเรื่อง “ปาย อิน เลิฟ” ไว้พอสมควร ด้วยการโพสต์ข้อความอันเสียดแทงความรู้สึกไว้ในเว็บไซต์บางเว็บ เล่นเอาปวดเจ็บหัวใจอย่างถึงที่สุดสำหรับมนุษย์ที่ “โง่” ตีตั๋วเข้าไปดูหนังเรื่องดังกล่าว...ภาพยนตร์เรื่องล่าสุด อย่าง “พุ่มพวง” น่าจะเป็นอานิสงส์ส่งให้คะแนนความนิยมในตัวของผู้กำกับ “บัณฑิต ทองดี” สำหรับคนดูหนัง ตีกลับมาในด้านดีพอสมควร เพราะผลลัพธ์ที่ออกมา ต้องยอมรับว่า เหนือความคาดหมาย

เพราะหลังจากติดตามดูผลงานของผู้กำกับคนนี้ ผมรู้สึกว่า ในบรรดาผลงานทั้ง 5 เรื่อง ไล่มาตั้งแต่ “มนต์รักลูกทุ่งเอฟเอ็ม”, “เฮี้ยน”, “มนุษย์เหล็กไหล”, “ฝันหวานอายจูบ(ตอน อาย) และ “ปาย อิน เลิฟ” นั้น มนุษย์เหล็กไหล ดูจะเป็นงานที่ถือว่าใช้ได้ที่สุด และยิ่งบวกกับวาทะอันเผ็ดร้อนเมื่อปีก่อนตอนปายอินเลิฟเข้าฉายด้วยแล้ว ผมเชื่อว่า คงไม่ใช่แค่ผมคนเดียว แต่หลายๆ คนที่ได้รู้ได้อ่านวาทะดังกล่าวก็คงรู้สึก “แหยง” อยู่ในใจเช่นเดียวกัน

แต่ก็อย่างที่บอกแหละครับ มนุษย์เรา มีดีมีชั่ว มีพลั้งมีพลาด มีอารมณ์แห่งปุถุชน หลายๆ คนถามผมตั้งแต่หนังพุ่มพวงตั้งไข่เป็นโปรเจคต์แรกๆ ว่าจะไปดูหนังเรื่องนี้ไหม ผมก็ยังยืนยันหนักแน่นว่าจะไปดู ถามว่า ไม่เข็ดกับเรื่องที่ผู้กำกับเคย “ว่าคนดู” หรือ ผมบอก ก็เป็นอดีตของเขา เป็นประวัติศาสตร์ของเขา คนเรามีหลายด้าน และพูดกันจริงๆ สิ่งที่คุณบัณฑิต ทองดี เคยพูด มันก็อารมณ์มนุษย์มนาธรรมดาๆ ทั่วไป ก็เท่านั้นเอง คนฉลาดมิควรรับมาเก็บไว้ให้เปลืองเมโมรี่ชีวิต
กลับมาคิดเกี่ยวกับหนังพุ่มพวง...

ด้วยพื้นฐานที่มา หนังเรื่องนี้สร้างมาจากนิยายอิงประวัติชีวิตของคุณผึ้ง-พุ่มพวง ดวงจันทร์ ชื่อ “ดวงจันทร์ที่จากไป” ซึ่งเขียนโดย “บินหลา สันกาลาคีรี” และจากเป้าประสงค์ของหนังสือที่ตั้งโจทย์ไว้ว่า จะบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางไปในสายธารความรัก ความหวัง และความฝันของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งต่อสู้ฝ่าฟัน เพียรพยายามต่อการสร้างเนื้อสร้างตัว จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นราชินีลูกทุ่ง พร้อมกับเส้นทางชีวิตที่ผกผัน ทั้งหวานชื่นและขื่นขมนั้น ถือว่า หนังสื่อออกมาได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น

ส่วนหนึ่งนั้น อาจจะเป็นเพราะว่า เราต่างก็มี “เกร็ดประวัติ” ของคุณผึ้ง-พุ่มพวง ติดอยู่ในห้วงความทรงจำเป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว นั่นจึงไม่ยากเลยที่เนื้อหาเรื่องราวในหนังจะกระทบกระเทือนใจเราได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อหาในส่วนของความเศร้าแห่งชีวิตที่คุณผึ้งต้องพบเจอ

โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่า ผมชอบช่วงเวลาครึ่งแรก (ราวๆ 40 นาทีแรก) ของหนังมากที่สุด เพราะเห็นว่า “ประเด็น” มั่นคงมาก น้ำหนักของความมุ่งมั่นใฝ่ฝันและไม่ยอมล้มเลิกของผู้หญิงคนหนึ่งนั้น สะท้อนออกมาอย่างเด่นชัดและหนักแน่น ชีวิตชีวา ความฝัน ความสดใส ความมุ่งมั่น โดดเด่นมีพลังมาก โดยมีเรื่องราวความรักความผูกพันระหว่างนางเอกของเรื่องกับนักดนตรีหนุ่ม “ธีระพล แสนสุข” (ป๋อ-ณัฐวุฒิ) เป็นอีกหนึ่งเนื้อหาที่เคียงคู่กันมาในระหว่างเส้นทางสร้างฝัน

แต่หลังจากนั้น ตั้งแต่หนังเดินทางเข้าสู่ช่วงซึ่งวงดนตรีที่พุ่มพวงเริ่ม “ไปต่อไม่ได้” พร้อมกับการเข้ามาของค่ายเพลงค่ายใหญ่ซึ่งมีนักแต่งเพลงชื่อดังอย่างครูลพ บุรีรัตน์ เป็นแม่ทัพด้านงานเพลง หนังก็เริ่มเหวี่ยงตัวเองเข้าสู่โหมดแห่งความเศร้า ทั้งๆ ที่ชื่อเสียงของคุณพุ่มพวงเริ่มโชติช่วงชัชวาลย์ แต่อีกด้าน หลายสิ่งหลายอย่างก็ดูจะเดินสวนทางกัน ในความสุข ก็มีความเศร้า กระจายอยู่รอบทิศทาง ไม่ว่าจะในส่วนที่เกี่ยวกับคุณธีระพลที่รู้สึกว่าตนเป็นคนนอก และเหนืออื่นใด คืออุปสรรคด้านโรคร้ายที่รุมเร้าคุณพุ่มพวง

ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่น่าตั้งข้อสังเกตอยู่บ้างสำหรับหนังเรื่องนี้ ผมว่าน่าจะอยู่ที่จังหวะการปล่อยเพลงของคุณผึ้ง แน่นอนว่า เพลงของคุณผึ้งนั้นฟังเพราะอยู่แล้ว แต่หนังยังทำให้พลังของเพลงเจิดจรัสได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้ ก็เนื่องจากจังหวะที่หนังปล่อยเพลงอย่างที่บอก คือจังหวะของเนื้อหาเรื่องราวยังไม่ “ถึง” เท่าที่ควร แต่เพลงก็ดังขึ้นมา ความรู้สึกจึงให้ความรู้สึก “เกือบ” จะเหมือนว่า นี่เป็นรายการ “รำลึกเพลงดังในวันเก่า”

ขณะเดียวกัน เรื่องราวในช่วงท้ายๆ ก็ดูจะมากมายด้วย “เนื้อหา” ที่หนังอยากจะเล่า แล้วมันส่งผลต่อโฟกัสของหนังที่ออกอาการ “แกว่ง” อย่างยากจะปฏิเสธ และทำให้จุดที่หนังควรเน้น ต้องถูกแบ่งให้กับส่วนอื่นๆ ไป เช่น เรื่องราวการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บของคุณผึ้ง หนังอาจจะบีบเค้นเน้นหนักให้สะเทือนอารมณ์ได้มากกว่านี้อีกหลายเท่า ถ้าไม่เสียเวลากับการที่ต้องไปเล่าเรื่องของคุณธีระพลค่อนข้างเยอะ ซึ่งเอาเข้าจริง เรื่องในส่วนของคุณธีระพลก็เป็นแบบ “ปลายเปิด” ที่ไร้จุดจบบทสรุปอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่หนังควรให้ความสำคัญมากที่สุด คือตัวของคุณพุ่มพวงที่ต้องต่อสู้กับอ่อนแอ หวั่นไหว แต่ก็ฮึดสู้ขึ้นมาได้ จริงๆ หนังก็พยายามอยู่นะครับ เพียงแต่มันอาจจะได้ดีกว่านี้

อันที่จริง ผมว่าเรื่องราวของคุณพุ่มพวงมีจุดพีคและพลิกผันในหลายจุดที่สามารถทำให้คนน้ำตาแตกได้เลยนะครับ แต่ผมว่าหนังยังทำได้ไม่ถึงขั้นนั้น อย่างตอนที่ไต่ฝันจนสำเร็จ เราอยากเห็นอะไรครับ เราอยากเห็น “ชัยชนะ” ของมนุษย์นักสู้คนหนึ่ง และอยากรู้สึกปลาบปลื้มชื่นชมไปกับชัยชนะอย่างเต็มที่ แต่หนังก็ไม่เค้นจุดนี้อย่างที่ควรจะทำ และเพราะเหตุดังนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลก หากพลังของหนังเรื่องนี้ไม่สามารถทำให้ใครสักคนรู้สึกฮึกเหิมอยากลุกขึ้นมาต่อเติมความฝันหรืออยากฝ่าฟันกับปัญหาหนักๆ เฉกเดียวกับตัวละครหลักในเรื่อง เพราะศักยภาพของบทหนังไปไม่ถึง

เปรียบเทียบง่ายๆ ครับ การพูดเรื่องความฝัน ความเพียรพยายาม การต่อสู้ ที่มีประสิทธิภาพจริงๆ ผมอยากให้นึกถึงหนังไทยอีกเรื่องอย่าง “โหมโรง” ที่พอโหมกระแสติด ก็ทำให้ผู้คนเดินออกจากบ้านพาลูกไปสมัครเรียนระนาดกันยกใหญ่ แต่กับเรื่องนี้ ผมไม่แน่ใจว่าจะมีใครกี่คนที่อยากลุกขึ้นมาเพื่อเจริญรอยตามราชินีลูกทุ่งผู้ล่วงลับ ส่วนหนึ่ง เพราะหนังไม่ได้ขับเน้นให้เห็นความยิ่งใหญ่หรือมีเกียรติมีศักดิ์ศรี (ฉาบฉวยที่สุด คือความเท่) ของบทเพลงลูกทุ่งอย่างเพียงพอ แม้จะมีอยู่บ้างที่หนังพยายามจะใช้ความต้องการได้ร้องเพลงในโรงแรมดุสิตธานีเพื่อสื่อถึงเกียรติยศแห่งลูกทุ่ง แต่ที่สุดแล้ว ก็ทำแบบผ่านๆ ไร้พลัง

ผลลัพธ์อย่างถึงที่สุดซึ่งหนังเรื่องนี้ทำได้ ก็คือ การฉายให้เห็นภาพชีวิตของนักตามฝันคนหนึ่งซึ่งผูกพ่วงอยู่โศกนาฏกรรมความเศร้า และ...เราได้รำลึกถึงเรื่องราวของเธอนั้น...

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสิ่งที่น่าพอใจบ้างไม่น่าใจบ้างทั้งหมดที่ว่ามานั้น ผมคิดว่า แสงสว่างที่เจิดจ้าที่สุดของหนังเรื่องนี้ อยู่ที่ตัวของนักแสดงสาวผู้รับบทบาทคุณพุ่มพวง อย่าง “เปาวลี พรพิมล” ไม่น่าเชื่อนะครับว่า เธอไม่เคย “แสดง” อะไรมาก่อนหน้านี้เลย เธอทำให้ผมนึกไปถึงนักแสดงสาวรุ่นพี่อีกคน อย่าง “หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ” ซึ่งสร้างผลงานได้ดีแม้กับงานชิ้นแรกเพียงเท่านั้น

พูดกันจริงๆ เสียงร้องของเธออาจจะไม่สามารถกล่าวได้เต็มปากเต็มคำนักว่า นี่คือ “เงาเสียง” ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ (แต่เธอ “เสียงดี” มากๆ นะครับ) แต่บนเส้นทางการแสดง ผมว่าเธอแจ้งเกิดได้เต็มตัวแล้ว และไม่แน่นะครับ งานประกาศผลรางวัลปีหน้า เปาวลีคนนี้อาจจะไปยืนอยู่ในจุดเดียวกับที่คุณน้องหนูนาเคยเหยียบยืนมาแล้วก็เป็นได้








กำลังโหลดความคิดเห็น