น้ำท่วม ร.ร.ทั่วประเทศเสียหายกว่า 2 พันแห่ง ขณะที่ชาวบ้านอยุธยา โวยสุพรรณไม่เปิดรับน้ำ
วันนี้ ( 6 ต.ค.) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย นางบุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.และ นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วม พร้อมมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
นายวรวัจน์ กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยม ว่า ขณะนี้ภาพรวมของความเสียหายของสถานศึกษาทั่วประเทศประมาณ 2,000 แห่ง มูลค่าความเสียหายประมาณ 1,400 ล้านบาท เฉพาะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีโรงเรียนใน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับความเสียหายเบื้องต้นจำนวน 72 แห่ง แยกเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 62 แห่ง มูลค่าความเสียหายประมาณ 1 ล้าน 2 แสนบาท สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 3 แห่ง มูลค่า 2 ล้าน 2 แสนบาท และโรงเรียนเอกชน 7 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 2 ล้าน 4 แสนบาท รวมความเสียหายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 5 ล้าน 8 แสนบาท
“ตอนนี้ ศธ.ได้ระดมความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว โดยให้ผู้บริหาร ศธ.เดินสายให้ความช่วยเหลือตามพื้นที่ และโรงเรียนที่เสียหายแล้วส่วนระยะยาวจะได้วางแผนฟื้นฟูต่อไป” นายวรวัจน์ กล่าว
ด้าน นางทิพาพรรณ ครองทอง อายุ 49 ปี ชาวบ้านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ปกติอยุธยาน้ำจะท่วมเป็นประจำทุกปี แต่ส่วนบ้านของตนไม่เคยท่วมเลยนับแต่ปี 38 เป็นต้นมา แต่ปีนี้โดนน้ำท่วมและหนักมาก อย่างโรงงานทำไม้พาเลท ที่อยู่ใกล้เคียงก็เก็บของไม่ทัน เครื่องจักรจมน้ำเสียหายหลายล้านบาท ตนเข้าใจว่า เป็นหน้าที่ของทุกๆ คนที่ต้องช่วยเหลือตัวเอง แต่ทางราชการก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือด้วย โดยเฉพาะหากมีการผันน้ำไปทางจังหวัดสุพรรณบุรี ก็จะช่วยให้จังหวัดอยุธยา หรือจังหวัดใกล้เคียงจังหวัดสุพรรณนั้นได้รับผลกระทบน้อยลง
“อยากถามว่า เค้าเป็นพ่อของประเทศหรือยังไง ถึงไม่สามารถผันน้ำไปทางสุพรรณได้ เข้าใจว่า น้ำท่วมอยุธยาแบบนี้เป็นเรื่องปกติ แต่ครั้งนี้หนักกว่าทุกครั้ง และทุกคนเดือดร้อน แต่ที่สุพรรณกลับน้ำแห้ง แต่ถ้ามีการผันน้ำไปทางจังหวัดสุพรรณ น้ำก็จะมีทางออกไปสู่ทะเลได้เร็วขึ้น” นางทิพาพรรณ กล่าว
นายวรวัจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จะระดมให้หน่วยงานในสังกัด ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม หากประชาชนมีความต้องการเตนท์ อาหาร ที่อยู่หรือส้วมลอยน้ำ ขอให้ติดต่อมายัง ศธ. ได้ ทั้งนี้ได้สั่งการให้ สอศ. ไปจัดทำตาข่ายเพื่อครอบคันดินในจุดที่ล่อแหลม มีน้ำไหลผ่านจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้คันดินพังจนน้ำทะลักเข้ามาได้ ซึ่งจะจัดทำให้ครอบคลุมทุกจุดที่มีปัญหาน้ำท่วม และพื้นที่ กทม.
นอกจากนี้ยังให้อาชีวะ เร่งนำน้ำหมักจุลินทรีย์เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำเน่าเสีย อย่างไรก็ตามขณะนี้ใกล้เวลาที่นักศึกษาอาชีวะ และมหาวิทยาลัยจะปิดภาคเรียน ดังนั้นจะให้นักศึกษาเหล่านี้ออกค่ายช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม หากชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือ เช่นการทำถนนหรือเรื่องใดก็ตาม ขอให้ประสานไปยังสถานศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งนี้ ศธ. ได้ใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาน้ำท่วมไปแล้ว 1,300 ล้านบาท