รัชญา จันทะรัง
“โครงการหลวงได้เริ่มขึ้นเป็นกิจการที่เล็กๆ ซึ่งไม่เป็นโครงการแต่เป็นการไปเที่ยวมากกว่า คือ ไปเที่ยวตามหมู่บ้านต่างๆ ก็ได้เห็นว่า ควรที่จะช่วยประชาชนในการอาชีพ จึงได้นำสิ่งของไปให้เขาเพื่อที่จะพัฒนาการอาชีพของชาวบ้าน ต่อมาก็ได้เพิ่มขึ้นมีผู้เชียวชาญ และหน่วยงานราชการได้เข้ามาช่วย และมีคนส่วนหนึ่งช่วยเพื่อที่จะให้เกิดการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ต่อมามีการร่วมมือของทางองค์กรต่างประเทศ ตลอดจนรัฐบาลต่างประเทศด้วย จึงขึ้นมาเป็นโครงการที่เรียกว่า โครงการหลวง” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
...และ 38 โครงการหลวงบนดอยสูงเหล่านี้ได้ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวผ่านตัวหนังสือสำหรับการเป็นคู่มือท่องเที่ยวและเรียนรู้ โครงการหลวงฉบับสมบูรณ์ ในหนังสือที่ชื่อว่า “38 เส้นทางความสุข 38 โครงการหลวง” ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา โดยจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในส่วนของสถานที่ ผลิตภัณฑ์ และผลงานของโครงการหลวงในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างยั่งยืน
ม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เล่าว่า พื้นที่บนดอยจะเป็นพื้นที่สำหรับการทำวิจัยพืช ผัก ผลไม้เมืองหนาว ที่สามารถปลูกขายได้ราคาดีจนทำให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นซึ่งเราเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำได้โดยต่างประเทศอย่างโคลอมเบีย อัฟกานิสถาน ก็ยกให้เราเป็นต้นแบบในด้านนี้
“การไปเที่ยวบนดอยสนุกไปได้ทุกแห่ง การไปเที่ยวโครงการหลวงก็เหมือนกับการไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง ส่วนตัวที่ชอบมากที่สุด คือ ดอยอ่างขาง เพราะเมื่อก่อนเราเริ่มโครงการหลวงกันที่นี่ ซึ่งเป็นที่ที่ตอนนั้นคนไทยยังเข้าไปไม่ได้ เนื่องจากมีทหารจีนตั้งค่ายขวางทางอยู่ ซึ่งการจะเข้าไปได้ก็ต้องนั่งเฮลิคอปเตอร์บินเข้าไปสำรวจพื้นที่ข้างในทำให้เห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มันสวยมาก อากาศเย็น ก็เลยตั้งเป็นสถานีเกษตรหลวงอ่างข่างขึ้นเพื่อเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง” ม.จ.ภีศเดช ระบุ
ม.จ.ภีศเดช เล่าด้วยว่า สมัยก่อนเมื่อขับรถมาถึงตีนดอยแล้วก็จะชอบจอดรถทิ้งไว้แล้วจะใช้วิธีการเดินขึ้นไปบนดอยแทน ดอยที่นี่จะมีพืชผักผลไม้เมืองหนาวเยอะมาก ซึ่งตอนนี้สตอเบอรี่ที่ดอยอ่างขางมีมากที่สุด ชาวปะหล่องสามารถปลูกสตอเบอร์รี่ขายได้เงินถึง 3-4 แสนบาท
ม.จ.ภีศเดช ยังเล่าให้ฟังถึงโครงการหลวงที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปรานมากที่สุดด้วยว่า พระองค์ท่านจะทรงโปรดโครงการหลวงทุกแห่ง โดยพระองค์ท่านทรงพระดำเนินไปได้ทั้งวัน พอเย็นพระองค์ท่านก็จะเสด็จฯกลับมา ขณะที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ท่านก็ทรงพระดำเนินเก่งมาก สมเด็จฯท่านทรงโปรดการเก็บพีชและสตรอเบอรี่ ในหลวงจะทรงโปรดเก็บลูกมะเดื่อฝรั่งหรือลูกฟิก (Fig) ผลที่สุกแล้วมาเสวย พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่าทานแล้วมันดีต่อสุขภาพ
ขณะที่อมรา ศิริพงษ์ หรือ ส้ม อมรา หนึ่งในผู้ร่วมถ่ายทอดเส้นทางแห่งความสุข เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ประทับใจ ว่า สถานที่ที่ตนเองไป คือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพื้นที่ปังค่า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวโครงการหลวงเส้นทางที่ 4 กินอาณาเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ คือ จังหวัดเชียงราย น่าน และ พะเยา ซึ่งการไปเที่ยวโครงการหลวงครั้งนี้ ก็เหมือนกับเราไปเป็นนักเรียนเหมือนที่ท่านภี บอก เพราะเราไม่ได้เที่ยวอย่างเดียวแต่เราได้เรียนรู้วิธีที่ในหลวง ท่านทรงพัฒนาพื้นที่เหล่านี้อย่างไร ความเป็นอยู่ของชาวเขามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
“ตอนที่เข้าไปเห็นที่โครงการจริงๆ รู้สึกว่า มันไม่เหมือนกับที่เราเห็นในรูปแต่มันยิ่งใหญ่กว่านั้นตอนที่เราขึ้นไปอยู่บนยอดดอยแล้วพี่คนหนึ่งบอกว่าในหลวงท่านทรงพัฒนาพื้นที่ด้านล่างนี้ พี่ขนลุกเลยมันเป็นอะไรที่บอกไม่ถูก และพอเราได้เดินทางผ่านเขาลูกต่างๆ ก็ทำให้รู้สึกว่าที่นี่มันเป็นสวิตเซอร์แลนด์ชายแดนไทย มันสวยอย่างนั้นเลย เราไม่ต้องไปเสียเงินแพงเพื่อไปต่างประเทศ ทำไมไม่สนับสนุนของคนไทย เราไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อไปสัมผัสอากาศหนาว ไปสูดอากาศบริสุทธิ์ หรือไปเดินเล่นที่ทุ่งนา ที่นี่ก็มีเหมือนกันดังนั้นทำไมเราต้องจ่ายแพงกว่า แถมบ้านพักของมูลนิธิโครงการหลวงก็เป็นแบบรีสอร์ตราคาไม่แพงแค่ 800 บาท หรือจะตั้งแคมป์ก็ราคา 300 บาท นอกจากนี้ ยังสามารถเก็บผัก ผลไม้สดมาปรุงอาหารได้อีกด้วย”
พี่ส้ม ยังฝากถึงทุกๆ คนด้วยว่า ถ้าสมมติว่า ใครมีโครงการพักร้อน 1 อาทิตย์ ขอแนะนำให้ไปตามเส้นทางนี้ ขับรถไปกับครอบครัวไปเที่ยวโครงการหลวงที่เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน เพราะถ้าทุกคนไปเที่ยวที่อื่นพวกคุณก็จะได้แค่เที่ยวแต่ถ้ามาที่โครงการหลวงก็จะได้ช่วยสนับสนุนโครงการหลวง ได้ช่วยชาวเขา ขอย้ำว่าผัก ผลไม้ที่นี่อร่อยและสดมากๆ จริงๆ และถ้าตนเองมีโอกาสก็จะต้องไปให้ครบทั้ง 38 เส้นทางความสุข 38 โครงการหลวงอย่างแน่นอน ...