อนุ กก.คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เร่งหารือแนวทางลดปัญหาบังคับตรวจเชื้อเอชไอวี หลังพบไทยเป็นปัญหาในองค์กรของรัฐ 1-2% ถูกบังคับให้ตรวจเชื้อเอดส์
วันนี้ (4 ต.ค.) กรมควบคุมโรค พญ.เพชรศรี ศิรินิรันดร์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจัดการปัญหาเอดส์แห่งชาติ กรมควบคุมโรค กล่าวในการสัมมนา เรื่อง “การตรวจการติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่สมัครใจ : ผลกระทบและแนวทางแก้ไข” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และ คร.ว่า จากข้อกำหนดของสหประชาชาติ (UNAIDS) ซึ่งมียุทธศาสตร์หนึ่งเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ที่ระบุว่า ประเทศที่มีการบังคับการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี ควรมีมาตรการ หรือแนวทางใดๆ เพื่อลดการบังคับสิทธิดังกล่าว ซึ่งนานาประเทศได้มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาโดยตลอด ประเทศไทยก็เช่นกัน ที่ผ่านมา มูลนิธิได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ติดเชื้อถึงสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิ เนื่องจากมีการบังคับตรวจหาเชื้อเอดส์ และเมื่อพบกลับมีการไล่ออก ซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้คณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ จึงได้ประชุมหารือถึงสถานการณ์ปัญหา รวมไปถึงการหาแนวทางการดำเนินการลดปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ โดยจะหารืออย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 26 ต.ค.นี้
ด้าน นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวนั้น หากไม่มีการป้องกันการละเมิดสิทธิ ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ติดเชื้ออย่างมาก ดังนั้น การตรวจหาเชื้อเอดส์จะมีประโยชน์ หากเป็นไปด้วยความสมัครใจ มีการเก็บความลับของผู้ติดเชื้อ ไม่นำไปเผยแพร่ในแง่เสียหาย และมีการส่งต่อไปสู่การดูแลรักษาอย่างเหมาะสม แต่ที่ผ่านมาไม่เป็นเช่นนั้น มีการบังคับให้ตรวจเชื้อก่อนทำงาน หรือระหว่างทำงาน อย่างการตรวจสุขภาพประจำปี สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการลิดรอนสิทธิอย่างมาก
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดี คร.กล่าวว่า แม้ผู้ถูกตีตราจากการบังคับให้ตรวจเชื้อ
เอดส์จะไม่มากนัก แต่ก็ยังเป็นปัญหาการละเมิดที่ควรเร่งแก้ไข โดยข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า ภาครัฐ และเอกชนบางแห่งยังคงบังคับลักษณะนี้อยู่ โดยภาครัฐมีไม่มาก ราวร้อยละ 1-2 ขณะที่เอกชนมีประมาณร้อยละ 5-10 โดยผู้ที่ตรวจพบเชื้อบ้างก็ถูกไล่ออก ถูกรังเกียจ ซึ่งตัวเลขที่ชัดเจนยังคงเป็นปัญหาอยู่ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ เมื่อถูกละเมิดจะไม่กล้าออกมาดำเนินคดี ทำให้ไม่มีตัวเลขแน่ชัด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน คร.ได้ร่างแผนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ ระหว่างปี 2555-2559 ขึ้น ซึ่งเป้าหมายหนึ่ง คือ ลดปัญหาการริดลอนสิทธิดังกล่าว โดยจะขับเคลื่อนในเรื่องการไม่ให้สถานที่ทำงานในรัฐ หรือเอกชนมีเงื่อนไขการรับลูกจ้างปลอดเชื้อเอชไอวี ทั้งการให้ไปตรวจหาเชื้อก่อน หรือ การให้แสดงหลักฐานยืนยันว่าปลอดเชื้อ ส่วนแนวทางการดำเนินการตามยุทธศาสตร์จะมีการหารือในรายละเอียดกับภาคส่วนต่างๆ ต่อไป
อนึ่ง ภายในงานได้เปิดเผยผลการชี้วัดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีปี 2552 ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย สนับสนุนโดยโครงการร่วมโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ โดยสัมภาษณ์ผู้ติดเชื้อ 233 คน แบ่งเป็นชาย 57 หญิง 148 โดยสำรวจการกีดกันเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมพบว่าร้อยละ 34.33 ไม่ได้รับเชิญหรือถูกกีดกันไม่ให้ร่วมงาน โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากรังเกียจที่พวกเขาติดเชื้อถึงร้อยละ 57.84 นอกจากนี้อีกร้อยละ 19.47 ยังถูกปฏิเสธเข้ารับบริการทางการแพทย์ กรณีที่พบบ่อย คือ การทำฟัน การวางแผนครอบครัว ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ร้อยละ 63.95 รู้สึกละอาย ร้อยละ 47.64 รู้สึกผิด ร้อยละ 16.74 อยากฆ่าตัวตาย