รมว.ศธ.ฝากสถาบันผลิตครู ปั้นครูรอบรู้ ด้าน ประธาน ทปอ.มรภ.รับครูล้นตลาด เร่งปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การผลิต คัดคนเก่ง ดี ลงพื้นที่สัมผัสการเรียนการสอน ก่อนจบออกไปเป็นครู
วันนี้ (29 ก.ย.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนคร กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ จัดงานวันคล้าย “วันสถาปนาการฝึกหัดครูไทย” ครบรอบ 119 ปี โดยมี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมเสวนาทางวิชาการ “การผลิตครู : วิกฤตและโอกาส” ตอนหนึ่งว่า จากการที่ประเทศไทยต้องปรับตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา ดังนั้น ระบบการผลิตครูจะให้ครูเรียนรู้เฉพาะเรื่องภายในประเทศไม่เพียงพอ แต่ต้องให้ครูได้มีโอกาสเรียนรู้ระบบการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม งานวิจัย หรือสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ด้วย เพื่อเป็นการพัฒนา และให้โอกาสครูในการเลือกเรียนรู้สิ่งต่างๆ อันนำไปสู่การพัฒนาระบบการสอน การถ่ายทอด
รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า ปัญหาการว่างงานของครูที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ ตนมองว่ากระบวนการผลิตครู ฝึกสอนครูที่ผ่านมาได้มีการผลิตครูที่ดี และมีจำนวนมาก แต่ด้วยบริบทของการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยี การเคลื่อนตัวของสิ่งต่างๆ ทำให้ครูไม่ได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม ดังนั้น หลังจากนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทาง กำหนดกรอบการพัฒนาครู เพราะครูถือเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ข้อต่อ หรือตัวเชื่อมในนำความรู้สู่ผู้เรียน ส่วนการสอบระบบการสอบวัดผลประเมินผล ผู้สำเร็จการศึกษาคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ก่อนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูวัดประมวลความรู้ของบัณฑิตครู ของครุสภานั้น เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพ ซึ่งหากมีการจัดสอบ อยากให้มีการพัฒนาข้อสอบ
รศ.ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร อธิการบดี มรภ.พระนคร กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมของการผลิตครูนั้น เกินความต้องการของผู้ใช้ มีบัณฑิตครูว่างงานมากขึ้น ที่ผ่านมาทางสถาบันการผลิตครู พยายามจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยหาวิธีเพื่อคัดเลือกนักศึกษาที่เก่ง ดี และต้องการเป็นครูมาเรียนครู ไม่ใช่ไม่มีที่เรียนแล้วมาเรียนครู ซึ่งวิธีการคัดเลือกเด็กเข้ามาเรียนครูนั้น เป็นเพียงทางแก้ทางหนึ่ง แต่หากจะการผลิตครูในอนาคตประสบความสำเร็จ ได้ครูที่มีคุณภาพจริงๆ สถาบันผลิตครูต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการผลิตครู เน้นเรื่องของคุณภาพมากกว่าปริมาณ และลงพื้นที่ ดูแลครูในโรงเรียนต่างๆ มากขึ้น นอกจากนั้นในการผลิตครู ได้มีการนำนักศึกษาครูไปสัมผัสวิถี รูปแบบการเรียนการสอนตามสภาพโรงเรียนจริงๆ ตามพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เด็กคนละกลุ่ม ครูต้องบูรณาการการสอนให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก บัณฑิตครูในอนาคตจะเป็นครูที่มีกระบวนการสอน ขณะเดียวกัน สถาบันผลิตครู ก็ต้องลงไปช่วยพัฒนาครูในโรงเรียนต่างๆ ไม่กำหนดหลักสูตรเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม การผลิตครูหลังจากนี้ ศธ.ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยในงบประมาณปี 2555 ได้มีการจัดสรรงบประมาณให้กลุ่ม มรภ.เพิ่ม 400 ล้านบาท และเท่าที่ได้หารือร่วมกับดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา คาดว่า จะมีการเพิ่มงบในการพัฒนาสถาบันผลิตครูให้มีคุณภาพมากขึ้น