กทม.เตรียมแผนบริหารจัดการบีทีเอสหลังหมดสัมปทานปี 2572 หวั่นโดนรัฐบาลฮุบ คาดทำรายได้ให้ กทม.มหาศาลนับแสนล้าน
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมพิจารณาอัตราค่าบริการรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายสถานีวงเวียนใหญ่-เพชรเกษม (บางหว้า) ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ว่า ในที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จทันก่อนวันที่ 5 ธ.ค.2555 เพื่อเปิดให้บริการแก่ประชาชน นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ สจส.เตรียมการบริหารจัดการรวมเส้นทางของรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งหมด 36.3 กิโลเมตร ซึ่งในปี 2572 จะหมดสัมปทานกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ บีทีเอส ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของ กทม.โดยหลังจากนั้น กทม.มีแผนที่จะนำสัมปทาน 23.5 กิโลเมตร มารวมกับส่วนต่อขยายสายอ่อนนุช-แบริ่ง และ ตากสิน-เพชรเกษม โดยให้เคทีเป็นผู้บริหารจัดการเป็นเวลา 30 ปี ซึ่งคาดว่า จะสามารถทำรายได้ให้ กทม.กว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ถือเป็นการป้องกันข้อครหาว่าผู้บริหารชุดนี้นำเงินอนาคตมาใช้ นอกจากนั้น กทม.จะยังได้มีรายรับจากการเก็บภาษีโรงเรือนในแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามาก สำหรับค่าโดยสารในส่วนต่อขยายสายบางหว้า ยังไม่สรุปว่าจะเก็บในอัตราเท่าไหร่
รายงานข่าวแจ้งว่า การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว เป็นวิธีการที่ทางผู้หาร กทม.พิจารณาแล้วว่าจะเป็นวิธีการป้องกันไม่ให้หน่วยงานอื่นที่ดูแลระบบขนส่งมวลชนมายึดโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสไปบริหารเองตามนโยบายของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบันหรืออนาคต