xs
xsm
sm
md
lg

นศ.สายสังคม มรภ.-มทร.-เอกชน เบี้ยวหนี้ กยศ.มากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



รก.ผู้จัดการ กยศ.แจงผลการทำงานปี 54 เผย กลุ่มผู้เรียนสายสังคมของ ม.เอกชน มรภ.มทร.ไม่ใช้หนี้มากที่สุด ชี้ ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เป็นเพราะจบไม่ได้มาตรฐาน หรือมีงานทำ แต่ไม่ชำระหนี้ ปรับแผนเน้นส่งเสริมกลุ่มสายอาชีพ และสายวิทย์ ที่จบแล้วมีงานทำ พร้อมนำเรื่องคุณภาพการศึกษามาเป็นน้ำหนักพิจารณาจัดสรรจำนวนผู้กู้ให้สถานศึกษา จากเดิมไม่เคยสนใจ ระบุปี 55 จะเน้นเป็นรายสาขา

                นายเสริมเกียรติ ทัศนสุวรรณ รักษาการแทนผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกองทุน กยศ.ในปีงบประมาณ 2554 ว่า เฉพาะในปีงบประมาณ 2554 นั้นทางกองทุนได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณให้กู้ยืมทั้งสิ้น 42,712 ล้านบาท วางเป้าหมายปล่อยกู้ให้นักเรียน นักศึกษาจำนวน 981,712 ราย แต่ปรากฏว่า มีผู้ยื่นความประสงค์ขอกู้ยืมผ่านระบบ e-Studentloan จำนวน 1,053,078 ราย โดยสถานศึกษาได้คัดเลือกผู้มีสิทธิกู้ยืม จำนวน 892,159 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้กู้ กยศ.รายเก่า 622,354 ราย และผู้กู้รายใหม่ 269,805 ราย ซึ่งเฉพาะภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 ได้อนุมัติกรอบวงเงินกู้ยืมเพื่อเป็นค่าครองชีพและค่าเล่าเรียนให้แก่ผู้กู้ยืมและสถานศึกษาประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

                ในส่วนของการชำระหนี้นั้น ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษา และครบกำหนดชำระหนี้คืน จำนวน 2,461,999 ราย จากจำนวนกว่า 3.9 ล้านคน ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและจบการศึกษา เป็นเงินกู้ยืม 46,617 ล้านบาท โดยขณะนี้มีผู้ติดต่อขอชำระเงินคืน 1,880,483 ราย คิดเป็น 76.37% ชำระตามเงื่อนไข กยศ.477,941 ราย ชำระบางส่วน 1,234,074 ราย เป็นหนี้สูญกรณีเสียชีวิต 22,339 ราย รวมเป็นเงินได้ชำระคืน 24,989 ล้านบาทหรือคิดเป็น 53.7%

                นายเสริมเกียรติ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของ กยศ.ปีที่ผ่านนั้น ได้มีการปรับรูปแบบการพิจารณาการปล่อยกู้จัดสรรเงินให้สถานศึกษา โดยมุ่งเน้นสาขาที่เรียนมาจบแล้วมีงานทำ ทั้งสายอาชีพ และสายวิทยาศาสตร์ มีความต้องการมากขึ้น กยศ.ดังนั้น ที่ผ่านมา กองทุน กยศ.จึงปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพให้ผู้เรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากเดือนละ 1,375 บาท เพิ่มเป็น 2,200 บาท หรือ 26,400 บาทต่อปี และปรับเพิ่มเพดานการกู้ของบางสาขาในระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับต้นทุน จริงด้วย เช่น สาขาศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ จากเดิม 60,000 บาทต่อปี เพิ่มเป็น 70,000 บาทต่อปี สาขาสาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ จาก 80,000 บาทต่อปี เพิ่มเป็น 90,000 บาทต่อปี สาขาแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ จากเดิม 150,000 บาทต่อปี เพิ่มเป็น 200,000 บาทต่อปี

“เหตุผลที่ให้ความสำคัญกับสายอาชีพและสาขาวิทย์มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาจากการสำรวจ เราพบว่า ผู้เรียนที่จบในสายสังคมนั้นมีปัญหาไม่ชำระหนี้สูงสุด โดยเฉพาะผู้เรียนจากมหาวิทยาลัยเอกชนในภูมิภาค มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งจุดนี้ไม่สามารถระบุได้ชัด ว่า เพราะไม่มีงานทำ หรือมีงานทำแต่ไม่มาชำระหนี้ ดังนั้น ในการพิจารณาจัดสรรจำนวนผู้กู้รายใหม่ให้สถานศึกษาที่ผ่านมานั้น กยศ.จึงให้ความสำคัญกับมาตรฐานคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษานั้นๆ  เป็นค่าน้ำหนักสำคัญใช้พิจารณาจากเดิมที่ไม่เคยนำมาใช้ และกำหนดให้สถานศึกษาต้องจัดสรรผู้กู้ในกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เท่าเทียมกัน หรือหากไม่เท่ากันสายสังคมต้องไม่ได้รับสัดส่วนที่สูงกว่า  เช่น ใน 100 คน สถานศึกษาสามารถจัดให้สายสังคม 50 คน สายวิทย์ 50 คน ได้ หรือ สังคม 40 คน วิทย์ 60 คน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 วางแผนจะลงลึกระบุเป็นสาขาวิชาที่จะปรับจำนวนการจัดสรรให้สถานศึกษา” นายเสริมเกียรติ กล่าวและว่า นอกจากนี้ จะพิจารณาเป็นพิเศษสำหรับสถานศึกษาที่มีกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ตระหนักถึงการชำระหนี้คืนด้วย โดยในปีงบประมาณ 2555 กยศ.ได้เตรียมงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อดำเนินการโครงการกระตุ้นจิตสำนึกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น