xs
xsm
sm
md
lg

เผยเสียงส่วนใหญ่ขอเลื่อนประเมิน สมศ.เหตุเตรียมข้อมูลไม่ทัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.เปรื่อง  กิจรัตน์ภร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนคร
ประธาน ทปอ.ราชภัฏ เผยเสียงส่วนใหญ่ขอเลื่อนประเมิน สมศ.เหตุไม่สามารถเตรียมข้อมูลได้ทันตามหลักเกณฑ์ที่ สมศ.เพิ่งเปลี่ยน ขณะที่ ผอ.สมศ.ชี้ มหา’ลัยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการประเมินครบรอบ 5 ปีแล้ว จึงต้องประเมินปีนี้ ระบุ สมศ.จะอนุโลมการส่งผลงานย้อนหลังสำหรับมหา’ลัยที่เข้ารับประเมินปี 54 นี้ให้ส่งผลงานล่าสุดปีเดียว ส่วนประเมินปี 55 ให้ส่งย้อนหลัง 2 ปี เว้นหลังปี 56 ต้องส่งครบตามเกณฑ์

รศ.ดร.เปรื่อง  กิจรัตน์ภร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนคร ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของ มรภ.40 แห่ง กว่า 90% เห็นด้วยที่ให้ขอเลื่อนการประเมินคุณภาพภายนอก รอบ 3 ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ออกไปก่อน ซึ่งตามกรอบการทำงาน สมศ.จะประเมินรอบ 3 ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ส.ค. 2554 แต่การประเมินของ มรภ.จะเริ่มเดือน ก.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ขอเลื่อน เพราะเห็นว่า สมศ.เพิ่งจะออกหลักเกณฑ์และตัวบ่งชี้ใหม่เมื่อประมาณเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่ากระชั้นเกินไป และมหาวิทยาลัยไม่สามารถเตรียมเอกสารเพื่อเข้ารับการประเมินได้ทัน อีกทั้งยังกำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องรายงานผลในตัวบ่งชี้เชิงปริมาณย้อนหลัง 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2551-2553) นั่นหมายความว่า ทางมหาวิทยาลัยจะต้องจัดการเรียนการสอนให้เข้ากับตัวบ่งชี้ของ สมศ.แต่ขณะนี้การเรียนการสอนได้เริ่มไปแล้ว หากประเมินย้อนหลังก็อาจจะทำให้เกิดความไปเป็นธรรมได้
               

“ผมได้เชิญนายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ.สมศ.เข้าร่วมรับฟังปัญหาในการประชุม ทปอ.มรภ.วันที่ 9 ก.ค.นี้ พร้อมกันนี้ จะเสนอให้ ทปอ.มรภ.มีมติเลื่อนการประเมินออกไปก่อน ซึ่งคาดว่าจะเสนอไม่ให้มีการประเมินในปีงบประมาณนี้ ผมทราบว่า ก่อนหน้านี้ แม้แต่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ทั้ง 24 แห่ง ซึ่งความพร้อมทั้งเรื่องอาจารย์และผลงานวิจัยต่างๆ มากกว่า มรภ.ก็ขอเลื่อนการประเมินออกไปถึง 1 ปี  ดังนั้น จึงคิดว่า สมศ.ควรจะประเมิน มรภ.หลังจากประเมิน ม.รัฐเรียบร้อยแล้ว” ประธาน ทปอ.มรภ.กล่าว
               

ด้าน ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า ในปี 2554 มีมหาวิทยาลัยทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ ม.เอกชน และมรภ.เข้ารับการประเมินจาก สมศ.รวม 73 แห่ง เหตุผลที่ต้องเริ่มประเมินกลุ่มนี้ก่อน เพราะกฎหมายระบุว่า มหาวิทยาลัยจะต้องเข้ารับการประเมินจาก สมศ.ในทุกๆ 5 ปี และมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้เข้ารับการประเมินล่าสุดไปเมื่อปี 2549 เพราะฉะนั้นจึงครบรอบต้องเข้ารับการประเมินพอดี ตนทราบว่า มหาวิทยาลัยขอเลื่อน เพราะมีความกังวลเรื่องตัวบ่งชี้บางตัว ที่จะต้องเก็บข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี เช่น เรื่องงานวิจัย ที่ สมศ.ปรับใหม่ว่าจะนับจำนวนชิ้นงานวิจัยที่สามารถใช้ได้จริงเท่านั้น ซึ่งมหาวิทยาลัยบางแห่งก็อาจไม่ได้เก็บงานวิจัยไว้ เป็นต้น ทั้งนี้ สมศ.จะอนุโลมให้มหาวิทยาลัยที่เข้ารับการประเมินในปี 2554 ที่ยังไม่มีข้อมูลย้อนหลังครบ 3 ปีแต่จะให้แสดงข้อมูลล่าสุดเพียงปีเดียวได้ ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยที่เข้ารับการประเมินในปี 2555 ก็จะอนุโลมให้แสดงข้อมูลย้อนหลังได้ 2 ปีเช่นกัน เว้นแต่มหาวิทยาลัยที่เข้ารับการประเมินหลังจากปี 2556 เป็นต้นไปจะต้องมีข้อมูลย้อนหลัง 3 ปีตามที่ สมศ.กำหนดในตัวบ่งชี้โดยไม่มีการอนุโลม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่ให้เกิดความลักลั่น 
               

“การประเมินรอบ 5 ปี สมศ.จะเริ่มประเมินตั้งแต่ปี 2554 ไปจนถึง 30 กันยายน 2558 โดยมหาวิทยาลัยที่เข้ารับการประเมินอาจมองว่าไม่เป็นธรรมเพราะไม่มีเวลาเตรียมตัว แต่ในทางกลับกัน มหาวิทยาลับที่เข้ารับการประเมินก่อน หากไม่ผ่านจะมีโอกาสเสนอแผนพัฒนาและเข้ารับการประเมินภายใน  2 ปี ขณะที่มหาวิทยาลัยที่ประเมินที่หลังจะมีเวลาน้อยเพราะ สมศ.กำหนดว่ากระบวนการประเมินทุกอย่างจะต้องสิ้นสุดภายในวันที่ 30 กันยายน 2558 เท่านั้น” นายชาญณรงค์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น