กรมชลประทานคาดสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะกลับสู่ภาวะปกติหลังวันที่ 15 พ.ย. เตือนคนเชียงใหม่รีบขนย้ายของหนีน้ำปิงล้นตลิ่ง
นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้แถลงข่าวร่วมกับทางตัวแทนกรมอุตุนิยมวิทยา ถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย โดยขณะนี้ปริมาณน้ำที่ จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 4,308 ลบ./วินาที ซึ่งได้คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำจะขึ้นสูงสุดถึง 4,350 ลบ./วินาที ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 2 ต.ค. 2554 จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง ขณะที่ปริมาณน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท วันนี้วัดได้อยู่ที่ประมาณ 3,661, ลบ./วินาที ปริมาณน้ำที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ 3,217 ลบ./วินาที ซึ่งถ้าหากปริมาณน้ำที่วัดได้ที่ อ.บางไทร ไหลผ่านไม่เกิน 3,600 ลบ./วินาที กทม.ก็จะไม่ได้รับผลกระทบมาก
ในส่วนของการระบายน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อย ทางกรมชลประทานได้ประสานขอความร่วมมือในการปรับลดการระบายน้ำเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำจากเขื่อนไปสมทบกับน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ และทางกรมชลประทานก็จะสามารถบริหารการจัดการน้ำได้ง่ายขึ้นอีก
สำหรับพายุไห่ถางที่เข้าสู่ประเทศไทย ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่า ขณะนี้พายุดังกล่าวได้อ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ทางภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย คาดว่าในวันพรุ่งนี้ก็จะเคลื่อนผ่านประเทศไทย ส่วนพายุไต้ฝุ่นเนซาด อีกหนึ่งลูก ขณะนี้เคลื่อนตัวอยู่ที่บริเวณทะเลจีนใต้ คาดว่าในวันที่ 1 ต.ค. 2554 จะเคลื่อนเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย และฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันเฉียงเหนือ ได้รับผลกระทบซึ่งจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในช่วงตั้งแต่วันที่ 1-3 ต.ค. 2554 จากนั้นปริมาณฝนจะค่อยๆ เบาลง เนื่องจากความกดอากาศสูงที่พัดมาจากประเทศจีนมีกำลังแรง จะพัดผ่านร่องมรสุมทางภาคเหนือ ผ่านภาคกลาง ลงสู่ภาคใต้ และอ่าวไทย ซึ่งจะทำให้ทางภาคเหนือของประเทศอาจจะได้รับลมหนาวในช่วงดังกล่าว
ทั้งนี้ ทางกรมชลประทานได้มีการคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะสู่ภาวะปกติได้ในช่วงวันที่ 10-15 พ.ย. 2554 พร้อมทั้งได้ประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ใน จ.เชียงใหม่ ให้รับมือกับปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงที่จะล้นตลิ่งในช่วงเที่ยงของวันนี้ และขอให้ประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำปิง ในเขตหมู่บ้านป่าพร้าวนอก ถ.เจริญประเทศ บ้านเด่น อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เตรียมป้องกันและขนย้ายสิ่งของที่มีค่าขึ้นที่สูงเพื่อความปลอดภัย และให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด