ศูนย์เชียงใหม่ - กลุ่มคนเชียงดาวไม่เอาเขื่อน พร้อมเครือข่ายลุ่มน้ำปิงตอนบนเดินหน้าต่อ หลังจากชุมนุมคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง จนทำให้เวทีประชุมครั้งที่ 2 ของกรมชลฯต้องล้มไม่เป็นท่า ล่าสุด ยื่นหนังสือถึง ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ให้ช่วยยับยั้งโครงการดังกล่าวอย่างสิ้นเชิงพร้อมกับโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในที่ต่าง ๆ ด้วย
ตามที่ ทางสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะกรรมการดูแลกำกับงานที่ปรึกษาด้านวิชาการ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้จัดเวทีประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ณ หอประชุมเทศบาลตำบลเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งชาวบ้านโป่งอางและเครือข่ายลุ่มน้ำในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ร่วม 500 คน ได้ร่วมชุมนุมคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง ที่กรมชลประทานและทีมงานศึกษาฯ จัดขึ้น ณ หอประชุมเทศบาลตำบลเชียงดาว และได้ร่วมกันกดดันเคลื่อนไหว จนทำให้การจัดเวทีประชุมในครั้งนั้นต้องล่มไปนั้น
ล่าสุด ตัวแทนชาวบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้รุกเดินหน้าต่อ โดยเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อขอให้จี้ต่อองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ให้ทบทวนกระบวนการศึกษา และขอให้ยุติโครงการนั้นโดยทันที
โดยตัวแทนชาวบ้านได้ยืนยันว่า โครงการดังกล่าวนั้นขาดกระบวนการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจไม่ได้เกิดขึ้นจากคนในชุมชนอย่างแท้จริง และที่ผ่านมานั้น ขั้นตอน กระบวนการศึกษามีลักษณะเร่งรัดในการดำเนินการ ขาดความละเอียดของการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
อีกทั้งที่ตั้งโครงการดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิง ซึ่งถือว่าเป็นขุนน้ำสำคัญที่ไหลหล่อเลี้ยงชุมชนในพื้นที่อำเภอเชียงดาว เชียงใหม่จนถึงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา และยังเป็นพื้นที่ป่าของชุมชน ที่ชุมชนได้อาศัย พึ่งพาเป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร ไม้ใช้สอยของคนในชุมชน ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อน จะทำให้ต้นทุนองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมสูญหายไป
และที่สำคัญ การเข้ามาศึกษาฯครั้งนี้ไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริงและสิ่งที่ชุมชนเสนอ ทั้งที่ผ่านเอกสาร และการศึกษาข้อมูล เพราะผลที่ออกมาเป็นรูปแบบของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งความสูง พื้นที่รองรับน้ำ ความยาวของตัวเขื่อน ที่สำคัญการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การเข้ามาดำเนินการกระบวนการศึกษา ไม่ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนได้รับรู้อย่างทั่วถึงหรือไม่เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจร่วมของคนในชุมชน ซึ่งได้สร้างความวิตกกังวลให้ชุมชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
ด้าน นายจุลพันธ์ หลังจากรับหนังสือร้องเรียนแล้ว ได้กล่าวว่า ถึงยังไงตนเองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ ก็ต้องฟังเสียงของพี่น้องประชาชน หากโครงการใดๆ ที่เข้ามาในชุมชน ถ้าผลประโยชน์ไม่ตกกับชาวบ้าน หรือได้ไม่คุ้มเสีย ก็จำเป็นต้องหาทางยับยั้งต่อไป
“แต่เบื้องต้นขอรับเรื่องนี้ไว้ก่อน แล้วจะขอเวลาศึกษาข้อมูลโครงการนี้เพิ่มเติม และดูว่าชุมชนมีความต้องการ หรือมีปัญหาในเรื่องโครงการนี้มากน้อยเพียงใด เพราะโครงการใดๆ ที่ดำเนินการไปนั้น ถ้ามีปัญหา ปัญหามันไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวผมหรือว่ารัฐมนตรี แต่มันจะตกกับพี่น้องประชาชนนั่นเอง ซึ่งหากชาวบ้านยืนยันตามแถลงการณ์ แสดงเจตนารมณ์ว่าการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นไปไม่ถูกต้องก็คงต้องมีการทบทวนกระบวนการศึกษากันใหม่”
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนชาวบ้าน ได้เสนอขอให้ นายจุลพันธ์ หาทางให้มีการยับยั้งการดำเนินการศึกษาและขอให้ยุติโครงการดังกล่าวเสีย และขอให้รัฐบาลชุดนี้ได้ทบทวนแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ ให้ล้มเลิกแนวคิดการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ แต่ขอให้ทบทวนและหันมาผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำ เช่น ระบบเหมืองฝาย ชลประทานขนาดเล็ก โดยให้ชุมชนจัดการดูแลกันเอง ซึ่งจะเป็นทางออกในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน