xs
xsm
sm
md
lg

“วรวัจน์” สั่งสอบ หลังพบ 4 เขตส่อเรียกรับเงินสอบบุคลากรจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
พบ 4 เขตส่อพฤติกรรมเรียกรับเงินสอบบุคลากรจริง “วรวัจน์” ระบุได้ข้อมูลจากบุคคลน่าเชื่อถือยืนยันได้ เตรียมประชุมบอร์ด ก.ค.ศ.หาแนวทางแก้ปัญหาและวางเกณฑ์ให้ต่อไปการสอบภาค ก. และ ข. ข้อสอบต้องมาจากส่วนกลาง ชี้ต่อไปแม้แต่สอบครูผู้ช่วยก็ใช้แนวทางเดียวกัน “ชินภัทร” คาดใช้เวลา 1 เดือนสอบข้อเท็จจริง เผยไม่กังวลเรื่องข้อสอบเพราะมีคลังข้อสอบ เล็งดึงมหา’ลัยช่วยออกข้อสอบสร้างความน่าเชื่อถือ

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญกุล รัฐมนตรีว่าการรกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ร้องเรียนว่าการจัดสอบบรรจุบุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่มีการเปิดสอบ 60 ตำแหน่งใน 12 สพท.นั้นมีการตั้งโต๊ะเรียกรับเงิน หากต้องการให้ได้รับการบรรจุทันทีต้องจ่าย 730,000 บาท ถ้าขอให้ชื่อขึ้นบัญชีต้องจ่าย 350,000 บาท โดยหากตกลงจะต้องจ่ายก้อนแรกก่อน 200,000 บาท และในวันที่ประกาศรายชื่อต้องจ่ายอีก 150,000 บาท ส่วนที่เหลือให้จ่ายในวันที่เรียกบรรจุ ซึ่งได้สั่งระงับและการสอบที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 ก.ย.นี้ว่า ตนได้รับข้อมูลจากบุคคลที่น่าเชื่อถือ โดยเบื้องต้นทราบแล้วว่าใน 12 เขตพื้นที่การศึกษานั้นมี 4 เขตพื้นที่ฯเข้าข่ายว่าเรื่องของการเรียกรับเงิน ซึ่งตนได้มอบนโยบายชัดเจนแล้วว่า ในสมัยการทำงานที่ตนเป็น รมว.ศึกษาธิการนั้นจะไม่ปล่อยให้มีการเรียกรับเงินเพื่อแลกกับตำแหน่งเกิดขึ้น และจะเอาผิดคนที่กระทำพฤติกรรมลักษณะนี้

ส่วนที่ตนสั่งให้ระงับการจัดสอบไปก่อนนั้น ในวันที่ 26 ก.ย.นี้ตนในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะหารือกันในที่ประชุมว่าควรจะดำเนินการต่อเช่นไร ขณะเดียวกันก็ในเรื่องของการออกข้อสอบในภาค ก. และภาค ข.ว่าควรจะให้เป็นหน้าที่ของส่วนกลางคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการในภาพรวมส่วนการสอบในภาค ค. จึงให้เป็นหน้าที่ของ สพท.ทั้งนี้เพราะต้องการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด และมีแนวโน้มว่าจะใช้แนวทางดังกล่าวนี้ในการสอบบรรจุครูผู้ช่วยของ สพฐ.ด้วย

ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า การร้องเรียนเป็นลักษณะของการบอกเล่าให้ข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับการยืนยันจากตัวบุคคลที่เชื่อถือว่า ซึ่งเบื้องต้นค่อนข้างชัดเจนใน 4 สพท.ซึ่งได้มอบให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงลงไปตรวจสอบแล้วแต่ก็จะตรวจสอบในพื้นที่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนที่ว่าจะต้องเรียกใครขึ้นมาสำรองราชการที่ส่วนกลางเพราะตามขั้นตอนราชการเมื่อได้เบาะแสต้องลงไปหาข้อเท็จจริงก่อนหากพบจึงดำเนินการขั้นตอนต่อไปซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน อย่างไรก็ตาม สพฐ.ไม่ได้มุ่งแต่จะตรวจสอบเพียงแค่ 4 เขตเท่านั้นจะตรวจสอบทั้งหมด

ส่วนการชะลอจัดสอบนั้นคงจะไม่นานเกินไปทั้งนี้ ต้องรองฟังมติที่ประชุม ก.ค.ศ. ส่วนที่ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายว่าจะให้ สพฐ.รับผู้ชอบออกข้อสอบภาค ก. และภาค ข.นั้น สามารถทำได้และใช้เวลาไม่นาน และเรามีคลังข้อสอบอยู่แล้วขณะเดียวกัน การออกข้อสอบทุกครั้งจะมีการเก็บตัวคณะกรรมการออกข้อสอบ เมื่อถึงเวลาจัดสอบก็นำข้อสอบซึ่งเป็นไฟล์ข้อมูลส่งไปยังพื้นที่ ซึ่งทุกอย่างมีคณะกรรมการตรวจสอบทุกขั้นตอน เพราะฉะนั้น ถ้า ก.ค.ศ.มีมติให้จะหน่วยงานกลางออกข้อสอบแนวทางก็ไม่แตกต่างแต่จะเข้มงวดมากขึ้น และอาจจะขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อสอบซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือได้
กำลังโหลดความคิดเห็น