ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ประธาน “อ.ก.ค.ศ.” เขตพื้นที่การศึกษาโคราช จวกผู้บริหาร “ศธ.” รับใช้การเมืองซ้ำเติมทุจริตสอบครู 12 เขตประถมศึกษา แฉสวมบทเผด็จการดึงรวมศูนย์อำนาจสอบบรรจุบุคลากรศึกษา ขัดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ม.47 เสี่ยงถูกฟ้อง ชี้ทำลายเขตพื้นที่การศึกษาให้อ่อนแอกระทบการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จี้เปิดผลสอบข้อเท็จจริงพร้อมเชือดพวกเอี่ยวโกงสอบครูเด็ดขาดไม่เว้นคนของนักการเมืองแสบ
วันนี้ (27 ต.ค.) กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาจำนวน 12 เขต ที่จัดสอบบรรจุบุคลากรทางการศึกษาเลื่อนการสอบออกไปเป็นวันที่ 12 ธ.ค.นี้ โดยให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกข้อสอบภาค ก.ความรู้ความสามารถทั่วไป และ ภาค ข.ความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง และให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาสอบภาค ค. ความเหมาะสมกับตำแหน่งโดยวิธีสัมภาษณ์ โดยอ้างว่า เพื่อให้การสอบบรรจุเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม อันเนื่องมาจากการร้องเรียนว่ามีการทุจริตในบางเขตพื้นที่การศึกษาจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) นั้น
นายอดิศร เนาวนนท์ ประธานอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7 (อ.ก.ค.ศ.สพป.นครราชสีมา 7) กล่าวว่า การดำเนินการแก้ปัญหาการจัดสอบบรรจุบุคลากรทางการศึกษาดังกล่าว ถือเป็นการรับใช้ฝ่ายการเมืองของผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ที่ต้องการให้มีการกระจายอำนาจไปให้เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการ โดยมาตรา 47 กำหนดให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
นายอดิศร กล่าวต่อว่า ผู้บริหารระดับสูงใน สพฐ.และ ก.ค.ศ. รับใช้ฝ่ายการเมืองโดยการเลี่ยงกฎหมายให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการตามมาตรา 47 เฉพาะการสอบสัมภาษณ์ และ ยังสั่งให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นการศึกษาแก้ไขหลักสูตรการสอบแข่งขันจากเดิมที่เขตพื้นที่การศึกษาได้ประกาศหลักสูตรตามที่ ก.ค.ศ.กำหนดแนบท้ายประกาศการรับสมัครสอบไปแล้ว ซึ่งอาจทำให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาที่จัดสอบถูกฟ้องร้องจากผู้สมัครสอบที่เตรียมตัวอ่านหนังสือสอบตามหลักสูตรเดิมแนบท้ายประกาศได้
“การรับใช้ฝ่ายการเมืองโดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย เป็นการทำลายระบบการบริหารงานบุคคลของเขตพื้นที่การศึกษา สะท้อนวิธีคิดแบบเผด็จการรวมศูนย์อำนาจของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการทำให้เขตพื้นที่การศึกษาอ่อนแอส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา” นายอดิศร กล่าว
นายอดิศร กล่าวอีกว่า การจัดสอบครั้งนี้ถูกกล่าวหาว่า มีบางเขตพื้นที่การศึกษาในภาคอีสานมีการทุจริตเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบหัวละ 5-6 แสนบาท และ สพฐ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาสืบสวน แต่ไม่ได้แจ้งให้เขตพื้นที่การศึกษาทราบว่าผลการสืบสวนเป็นอย่างไรบ้าง มีเจ้าหน้าที่ หรือ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต ทำให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นการศึกษาที่จัดสอบถูกเหมารวมไปว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งหมด
หาก สพฐ.พบว่า เขตพื้นที่การศึกษาใดมีการทุจริตสอบ ก็ขอให้ดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญาบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด อย่าเลือกปฏิบัติเพราะเป็นคนของฝ่ายการเมือง เพราะที่ผ่านมาการทุจริตสอบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มีความเกี่ยวข้องกับนักการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติทั้งสิ้น
“ในส่วน อ.ก.ค.ศ.สพป.นครราชสีมา เขต 7 ยังไม่ได้ประกาศกำหนดการสอบใหม่ ทั้งนี้ตนได้ทำหนังสือสอบถาม เลขาธิการ สพฐ. และ เลขาธิการ ก.ค.ศ.ขอให้แจ้งผลการสืบสวนการทุจริตการสอบที่ สพฐ.ดำเนินการ และ หารือการออกประกาศ กรณีที่มีการแก้ไขหลักสูตรการสอบว่า หากมีผู้สมัครสอบไม่ประสงค์จะเข้าสอบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาจะต้องคืนเงินค่าสมัครสอบ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ หรือไม่อย่างไร” นายอดิศร กล่าว