xs
xsm
sm
md
lg

“หมอวินัย” เผยเบิกจ่ายจริงตามชนิด ประเภทของพาหนะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.สธ.สั่ง สปสช.จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยในเขตน้ำท่วมให้หน่วยบริการสามารถส่งต่อผู้ป่วยได้สะดวกทุกโรงพยาบาล โดยสามารถส่งได้ทั้งทางเรือ ทางอากาศ และทางรถยนต์ ซึ่ง รพ.จะได้รับค่าพาหนะในการส่งต่อตามอัตราที่กำหนด

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมทั้งประเทศ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคกลางที่ท่วมหนักในขณะนี้ มีความเป็นห่วงเรื่องที่หน่วยบริการต้องส่งต่อผู้ป่วย จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงได้มอบหมายให้ สปสช.จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยในเขตน้ำท่วมให้สามารถส่งต่อได้สะดวกทุกโรงพยาบาล หากมีความจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไป รพ.ที่มีศักยภาพมากกว่า ก็ให้ดำเนินการได้ไม่ว่าจะต้องใช้บริการทางเรือ ทางอากาศ หรือรถยนต์ก็ตาม ให้เร่งจัดการได้เลยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายพาหนะในการส่งต่อ เนื่องจาก สปสช.สามารถจัดการได้เพราะมีระเบียบรองรับอยู่แล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับการเบิกจ่ายค่าพาหนะในการรับส่งต่อผู้ป่วยจากต้นทางถึงปลายทางทั้งการใช้ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ หรือพาหนะอื่นใดที่ได้รับการออกแบบ เพื่อการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างการเคลื่อนย้ายหรือเดินทางนั้น ใช้อัตราการส่งต่อผู้ป่วย ดังนี้ ค่าเฮลิคอปเตอร์ ไม่เกิน 60,000 บาทต่อครั้งตามระยะเวลาในการบินและรัศมีในการบิน, อัตราค่าเรือ/แพขนานยนต์ ไม่เกิน 35,000 (ตามระยะทางและประเภทของเครื่องยนต์) ค่ารถยนต์ที่ รพ.ส่งต่อไปยัง รพ.ที่สามารถให้การดูแลรักษาได้ให้เบิกจ่ายในอัตราไม่เกิน 50 กิโลเมตร ให้เบิกจ่ายตามจริงในอัตราไม่เกิน 500 บาท หรือมากกว่า 50 กิโลเมตร จะได้รับการชดเชยเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท ซึ่งกรณีการใช้เฮลิปคอปเตอร์นั้น เน้นการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติและเร่งด่วน จากหน่วยบริการไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพที่เหมาะสม

“ขณะนี้ ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมประสบปัญหาในเรื่องเจ็บป่วย และเครียดจากเหตุการณ์น้ำท่วมจำนวนมาก ซึ่งประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ประสบอุทกภัยนั้น สามารถเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข จากหน่วยบริการใดก็ได้ที่อยู่ใกล้ โดยไม่ต้องไปรับบริการที่หน่วยบริการประจำก่อนและหน่วยบริการก็จะไม่เรียกเก็บค่าบริการจากประชาชน หากมีความจำเป็นก็ให้ทางหน่วยบริการดำเนินการได้ เพราะเป็นกรณีฉุกเฉิน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเร่งด่วน” นายวิทยา กล่าว

ขณะเดียวกัน ทางด้านหน่วยบริการที่ให้บริการประชาชนที่ประสบอุทกภัยแล้ว สามารถเรียกเก็บค่าบริการตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายกรณีอุบัติเหตุและเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ นายแพทย์ วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า รพ.ที่รับรักษาประชาชนนั้น ให้ดำเนินการตามกระบวนการเบิกจ่ายมาที่ สปสช.ตามปกติ ซึ่งหน่วยบริการทุกแห่งจะได้รับการเบิกจ่ายตามอัตราที่กำหนด โดย สปสช.ได้จัดเตรียมงบประมาณในส่วนนี้ไว้แล้ว และจะเร่งรัดการดำเนินการตามกระบวนการเบิกจ่ายนี้ให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ รพ.ได้รับเงินเร็วขึ้นอันจะทำให้ รพ.มีสภาพคล่องในภาวะวิกฤตที่ดีขึ้น ขณะที่ รพ.นอกสังกัดในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น รพ.เอกชน แต่มีประชาชนที่ประสบอุทกภัยใช้บริการและเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้าไปใช้บริการด้วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็ขอให้ดำเนินการรักษาตามกระบวนการ และส่งเรื่องเบิกจ่ายมาที่ สปสช.ได้ ซึ่ง สปสช.ยืนยัน และให้ความมั่นใจว่า ทุก รพ.จะได้รับเงินชดเชยการรักษาพยาบาลกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น