สปสช.แจงประชาชนในพื้นประสบภัยน้ำท่วมเข้าไปใช้บริการ รพ.ในโครงการใกล้บ้านได้ทุกแห่ง ไม่จำเป็นต้องเป็น รพ.ที่ขึ้นทะเบียนไว้ และ รพ.จะไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย ยัน รพ.ที่รับรักษาประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพในพื้นที่น้ำท่วมจะได้รับเงินชดเชยคืนแน่นอน
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้อนุมัติ “จัดตั้งกองทุนสนับสนุนภาวะฉุกเฉิน” เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนและหน่วยบริการได้รับความสะดวกและบรรเทาความเดือดร้อนในยามเจ็บป่วยระหว่างประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งขณะนี้ สปสช.ได้มอบหมายให้ สปสช.เขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี และ สปสช.เขต 12 จ.สงขลา ประสาน รพ.ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมพร้อมรับผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพในภาวะน้ำท่วมโดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช รพ.ท่าศาลา ที่ประสบน้ำท่วมรุนแรง ต้องอพยพผู้ป่วยทั้งหมดออกไปรักษาต่อที่ รพ.สิชล รพ.ค่ายวชิราวุธ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.เอกชนใกล้เคียง และในพื้นที่อื่นๆ เพื่อรับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล
นพ.ภูมิวิชญ์ ขวัญเมือง ผอ.สปสช.เขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สำหรับประชาชนในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ประสบอุทกภัย สามารถรับบริการด้านสาธารณสุข จากหน่วยบริการใดก็ได้ที่อยู่ใกล้ โดยไม่ต้องไปรับบริการที่หน่วยบริการประจำก่อนและหน่วยบริการก็จะไม่เรียกเก็บค่าบริการจากผู้ป่วย ขณะเดียวกัน ทางด้านหน่วยบริการที่ให้บริการประชาชนที่ประสบอุทกภัยแล้ว และสามารถเรียกเก็บค่าบริการตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายกรณีเหมาจ่ายเหมาจ่ายปกติหรือกรณีอุบัติและเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ จาก สปสช.
“เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ ขณะที่รพ.ที่รับรักษาประชาชนนั้น ให้ดำเนินการตามกระบวนการเบิกจ่ายมาที่ สปสช.ตามปกติ ซึ่งหน่วยบริการทุกแห่งจะได้รับการเบิกจ่ายตามอัตราที่กำหนด โดย สปสช.ได้จัดเตรียมงบประมาณในส่วนนี้ไว้แล้ว และจะเร่งรัดการดำเนินการตามกระบวนการเบิกจ่ายนี้ให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ รพ.ได้รับเงินเร็วขึ้น อันจะทำให้ รพ.มีสภาพคล่องในภาวะวิกฤตที่ดีขึ้น ขณะที่ รพ.นอกสังกัดในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น รพ.เอกชน แต่มีประชาชนที่ประสบอุทกภัยและเจ็บป่วยฉุกเฉินมีความจำเป็นต้องเข้าไปใช้บริการด้วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขอให้ดำเนินการรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ และส่งเรื่องเบิกจ่ายมาที่ สปสช.ได้ ซึ่ง สปสช.ยืนยัน และให้ความมั่นใจว่า ทุก รพ.จะได้รับเงินชดเชยการรักษาพยาบาลกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างแน่นอน” เลขาธิการ สปสช.กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหา โรคน้ำท่วม ซึ่งจะต้องให้ความระมัดระวังโรคที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ โดยต้องดูแลสุขภาพตนเอง เช่น การรักษาร่างกายให้อบอุ่น ป้องกันการเป็นไข้หวัด หากป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ ควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นโดยให้ความระวังกับโรคที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงน้ำท่วม