xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ปรับฐานข้อมูล รพ.เชื่อมโยงสิทธิสุขภาพ กันเบิกจ่ายซ้ำซ้อน-รวดเร็วขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช.ลงนามความร่วมมือ 3 โรงพยาบาลในสังกัด ม.มหิดล สธ. และกรมแพทย์ทหารอากาศปรับระบบฐานข้อมูลของสิทธิในระบบสุขภาพ ทำให้การทำงานง่าย รวดเร็วขึ้น ป้องกันการใช้สิทธิเบิกจ่ายซ้ำซ้อน
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
วานนี้ (21 มี.ค.) ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเชื่อมโยงสิทธิการรับบริการด้านสุขภาพ ระหว่าง สปสช.กับ รพ.ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล สปสช.กับ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ และ สปสช.กับ รพ.พระนั่งเกล้า กระทรวงสาธารณสุข

ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การพัฒนาระบบข้อมูลงานทะเบียนให้ถูกต้องและครอบคลุมเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชน ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งต่อการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิประกันสุขภาพของตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานและกองทุนต่างๆ จึงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดความผิดพลาด ซ้ำซ้อนของการใช้สิทธิเพื่อรับบริการสุขภาพ ณ หน่วยบริการ ของประชาชน

ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ในฐานะผู้รับผิดชอบฐานข้อมูลด้านสิทธิประกันสุขภาพของประชาชนไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลสิทธิประกันสุขภาพของผู้รับบริการด้านสาธารณสุขจาก รพ.ศิริราช รพ.ภูมิพลอดุลยเดช และรพ.พระนั่งเกล้า กับฐานข้อมูลกลางด้านสิทธิประกันสุขภาพของ สปสช. ผ่านระบบเว็บเซอร์วิสซึ่งนี่จะเป็นก้าวย่างที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งที่แสดงถึงความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบูรณาการทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยต่อไป

“การเชื่อมโยงฐานข้อมูลสิทธิบริการสุขภาพนั้นจะทำให้ทั้ง 3 โรงพยาบาลสามารถตรวจสอบสิทธิของประชาชนว่าอยู่สิทธิใดได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา การที่ประชาชนมีการเปลี่ยนสิทธิ และรพ.จะสามารถรู้ได้ด้วยการตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของ สปสช. ซึ่งทำได้ครั้งละ 1 คนเท่านั้น ซึ่งทำให้เสียเวลา แต่การเชื่อมโยงฐานข้อมูลนี้จะทำให้ รพ.สามารถตรวจสอบสิทธิของประชาชนที่มาใช้บริการได้ทีละหลายคน เป็นกลุ่ม ซึ่งการเชื่อมโยงฐานข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับ รพ.ที่มีประชาชนมาใช้บริการมากกว่าวันละ 1,000-2,000 คน เพราะมีประชาชนมาใช้บริการมาก การตรวจสอบสิทธิได้ทีละ 1 คนจะไม่สะดวก แต่การเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับ สปสช.จะทำให้ รพ.มีความสะดวกสบายมากขึ้น และส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็วมากขึ้นด้วย ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการเชื่อมโยงข้อมูลประมาณ 3 เดือน และหากการประเมินผลพบว่ามีประสิทธิภาพดี ก็มีแนวโน้มจะขยายไปยัง รพ.ขนาดใหญ่อื่นๆ ต่อไป” ภญ.เนตรนภิสกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น