xs
xsm
sm
md
lg

เสนอกระจายงบ สปสช.ใหม่ แก้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เสนอกระจายงบ ของ สปสช.ใหม่ ใช้วิธีจ่ายแบบเครือข่าย ช่วยระบบสมดุล ด้าน สพศท.หนุนรัฐฟื้น 30 บาทรักษาทุกโรค มั่นใจช่วยแก้ปัญหา รพ.ขนาดเล็กขาดสภาพคล่อง มีเงินสดหมุนเวียน ลดภาระการใช้บริการไม่จำเป็น
 

แหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการจัดประชุมตัวแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข จากทุกเขต ตลอดจนผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) เกี่ยวกับการแก้ปัญหาโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด สธ.ที่ขาดทุนและขาดสภาพคล่องนั้น ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแก่ สปสช.ให้ปรับบทบาทการกระจายเงินในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ สิทธิรักษาฟรีแบบใหม่ จากเดิมที่เคยกระจายให้โรงพยาบาลแต่ละแห่ง โดยมีการหักเงินเดือนของบุคลากรเป็นระดับอำเภอมาเป็นการจ่ายแบบเครือข่าย คือ จัดจำนวนประชากรเป็นเครือข่ายๆ ละ 4-6 ล้านคน โดยในหนึ่งเครือข่าย ประกอบไปด้วย รพ.หลายแห่ง รวมกัน เพื่อให้การกรายเงินเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยที่ประชุมได้นำเสนอแนวทางการกระจายเงินให้ สปสช.แล้ว และหวังว่าจะแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น

“จากเดิมที่เคยจ่ายตรงนั้น พบว่า ประสบปัญหาความไม่สมดุล เช่น โรงพยาบาลบางแห่ง มีเจ้าหน้าที่มาก แต่ประชากรน้อย หรือบางแห่งเป็นโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ มีการส่งต่อ ประชากรมาก แต่เจ้าหน้าที่เข้ามารองรับน้อย ก็ย่อมเกิดความไม่มั่นคงแน่น่อน ดังนั้น ข้อเสนอในการจ่ายเงินแบบใหม่น่าจะเหมาะกว่า ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังจากที่เสนอนโยบายดังกล่าวไปแล้ว หวังว่า สปสช.จะเห็นด้วย และหันมาใส่ใจในบทบาทที่แท้จริงยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการพยุง รพ.ต่างๆ ที่กำลังมีปัญหาระบบการเงิน คงต้องใช้เวลา แต่เชื่อว่า หากมีการจ่ายเงินแบบเครือข่ายดังกล่าว จะช่วยให้ รพ.สามารถเบิกจ่ายได้ตรงตามความจริงและมีความสมดุลมากขึ้น” แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว ด้วยว่า ที่ผ่านมา สปสช.เข้าใจบทบาทของตนเองผิดไป แทนที่จะทำหน้าที่ในการดูแลประชาชนให้ได้รับมาตรฐานด้านบริการสุขภาพอย่างเหมาะสมและเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ก็กลับไป ควบคุมโรงพยาบาลให้เพิ่มบริการสารพัด ดังนั้น สปสช.ต้องเลิกบทบาทดังกล่าวและต้องทราบว่าตนเองเป็นองค์กรที่เป็นผู้ซื้อบริการ ไม่ใช่ผู้ให้บริการ จึงไม่ควรไปกำหนดแนวทางการบริการให้โรงพยาบาลต้องเดินตาม เพราะอาจจะกลายเป็นผู้มีส่วนให้ระบบสั่นคลอน

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลประกาศนโยบายด้านสาธารณสุขให้มีการร่วมจ่าย โดยใช้ระบบจัดเก็บค่าบริการ 30 บาท หลังจากมีการประกาศยกเลิกไปว่า การร่วมจ่าย 30 บาท สามารถทำได้เพราะตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ มาตรา 5 ระบุว่าให้มีการร่วมจ่าย ยกเว้นผู้ยากไร้ ซึ่งจะมีบัตรพิเศษเป็นบัตร ท.ทหาร ซึ่งที่ผ่านมา การเก็บเงิน 30 บาท เชื่อว่าไม่ได้ถือเป็นการเบียดเบียนประชาชนมากนัก เพราะไม่ได้เป็นจำนวนมาก กลับกันถือเป็นการช่วยเหลือทางสังคม เพราะเงินดังกล่าวสำหรับสถานพยาบาลขนาดเล็ก โดยเฉพาะสถานีอนามัย หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลชุมชน ถือว่า เงินก้อนดังกล่าวเป็นเงินสดหมุนเวียนในสถานพยาบาล ที่สามารถนำไปใช้ลดภาระ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอุปกรณ์

“จากสถิติการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอก ตั้งแต่ปี 2545-2550 ในช่วงที่เก็บค่าบริการ 30 บาท พบว่า ประชาชนเข้ารับบริการประมาณ 101-110 ล้านครั้ง แต่ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งยกเลิกการเก็บ พบว่า อัตราการเข้าใช้บริการผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คือ จำนวน 200 ล้านครั้ง ซึ่งถือเป็น 2 เท่าของอัตราการใช้บริการเดิม ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ เท่าเดิม แต่ต้องเพิ่มภาระงานเป็น 2 เท่า เชื่อว่า หากมีการเก็บค่าบริการครั้งละ 30 บาท อย่างน้อยก็ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการโดยไม่จำเป็นได้บ้าง” พญ.ประชุมพร กล่าว

ด้านพญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขเรื่องภาวะขาดทุนของโรงพยาบาลในปัจจุบัน ว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการกันงบประมาณสำหรับโครงการพิเศษต่างๆ แต่เมื่อตรวจสอบพบว่างบประมาณเหล่านั้นไม่ได้ใช้และไม่มีการส่งคืนสำนักงบประมาณ โดยระบุว่า เป็นงบประมาณสำหรับโครงการในอนาคต ทำให้มีงบประมาณค้างจำนวนมหาศาล หากมีการบริหารจัดการได้ ก็จะสามารถนำเงินดังกล่าวจ่ายหนี้ค่ายาและแก้ปัญหาสภาพคล่องให้แก่โรงพยาบาลได้
กำลังโหลดความคิดเห็น