xs
xsm
sm
md
lg

โรคผิดเดือนของ “แม่ก๋ำเดือน” กับวิถีพื้นบ้านฟื้นฟูแม่หลังคลอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นวดผ่อนคลายคุณแม่หลังคลอด
ในยุคปัจจุบันบทบาทของสตรีเพศเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนที่อยู่เหย้าเฝ้าเรือน ทำงานบ้านเลี้ยงลูก แต่แม้ว่าด้วยโลกที่หมุนเร็วขึ้น ทำให้ผู้หญิงในทุกวันนี้เก่งไม่แพ้ผู้ชาย ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ ช่วยสามีหารายได้เข้าบ้าน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าอย่างไรผู้หญิงก็ยังเป็นเพศที่บอบบาง

...โดยเฉพาะผู้หญิงในช่วงหลังการคลอดบุตรใหม่ๆ ที่ร่างกายเพิ่งผ่านการบาดเจ็บจากการคลอด ไม่นับรวมถึงสภาพร่างกายเปลี่ยนไปในช่วงตั้งครรภ์และต้องเปลี่ยนกลับมาหลังจากคลอดเสร็จอีกครั้ง โดยภูมิปัญญาไทยโบราณอย่างการ “อยู่ไฟ” ยังคงใช้ได้ดีแม้ในยุคดิจิตอลเช่นนี้

พ่อหมอประสงค์ วรรณมณี หมอยาพื้นบ้านวัย 50 ปี แห่ง ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ผู้ผันตัวเองมาสวมหมวกอีกใบ นอกจากรักษาชาวบ้านด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ได้รับสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายาย ก็คือ รับเป็นหมอพื้นบ้านประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไหล่หิน สถานพยาบาลแห่งสำคัญในชุมชนตำบลไหล่หิน ในหน้าที่นำความรู้แพทย์แผนไทยมาประยุกต์กับวิทยาศาสตร์ของแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้ บนแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง และพึ่งพาตนเองได้ ได้เล่าถึงโครงการสำคัญโครงการหนึ่งในการผสมผสานแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันเพื่อดูแล “แม่ก๋ำเดือน” นั่นเอง

“แม่ก๋ำเดือน คือ ผู้หญิงที่คลอดลูกแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือ แม่ลูกอ่อนนั่นเอง ที่เรียกแม่ก๋ำเดือนเพราะตามภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย เมื่อคลอดแล้วต้องอยู่ก๋ำไฟหรือเรียกอีกแบบว่าก๋ำเดือน เลยเรียกว่าแม่ก๋ำเดือน แต่ถ้าแม่ก๋ำเดือนที่เพิ่งคลอดลูกมาใหม่ๆ ไม่อยู่ไฟ จะเกิดโรคที่โบราณเรียกว่าโรคผิดเดือน ที่จะส่งผลเมื่อแม่ก๋ำเดือนคนดังกล่าวสูงอายุขึ้น”

พ่อหมอประสงค์ อธิบายว่า โรคผิดเดือนนี้หากเป็นแล้วเมื่อแก่ตัวลงจะอาบน้ำเย็นไม่ได้ เพียงเปลี่ยนฤดูเข้าฤดูฝนหรือหนาวจะมีอาการหนาวเยือกจนเข้ากระดูก แต่อาการนี้จะไม่เกิดหากแม่ก๋ำเดือน “อยู่ไฟ” ครบถ้วนกระบวนความตามตำราแพทย์แผนไทยที่จะใช้ระยะเวลานานประมาณ 1 เดือน

“โบราณจะอยู่ไฟแบบนั่งผิงไฟ หันหน้าเข้าเตาไฟ อบอยู่อย่างนั้น พร้อมกับอาบน้ำต้มสมุนไพร หรืออาจจะนอนบนแคร่แล้วมีไฟสุมระอุอยู่ข้างล่างก็ได้ แล้วก็ต้องเลือกกิน ห้ามกินหน่อไม้ ให้กินผักมากๆ ผักกับน้ำพริก เพราะพริกช่วยขับเสมหะ กระเทียมช่วยขับลมและสลายไขมันส่วนเกินช่วงที่ตั้งครรภ์แถมช่วยขับน้ำคาวปลาด้วย”

พ่อหมอประสงค์ ให้รายละเอียดเพิ่มเกี่ยวกับน้ำต้มสมุนไพรที่แม่ก๋ำเดือนต้องใช้อาบ ว่า หลักๆ แล้วต้องต้มด้วยไม้เปล้าหลวง หรือเปล้าใหญ่, ไม้ส้มเสี้ยน และใบหมากตัวผู้ แต่ทุกวันนี้หากจะไปไล่หาสมุนไพรเหล่านี้ แล้วยังต้องมาหาที่อบ หากระโจม แถมต้องมีกรรมวิธีมากมายก็ดูจะเป็นเรื่องยุ่งยากไปสักหน่อย แต่ที่ รพ.สต.ไหล่หินกลับช่วยให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องง่ายๆ ของบรรดาคุณแม่มือใหม่ในพื้นที่ทั้งหลาย ด้วยโครงการผสมผสานภูมิปัญญาการดูแลแม่ก๋ำเดือนแบบไทยเข้าการการให้บริการสาธารณสุขของ รพ.สต.แห่งนี้

อำพา เรืองฤทธิ์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาวุโส รักษาการ ผอ.รพ.สต.ไหล่หิน กล่าวว่า ทาง รพ.สต.ไหล่หิน เล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของภูมิปัญญาการอยู่ไฟ จึงได้ดึงหมอยาพื้นบ้านมาร่วมกันทำงานจนกลายเป็นโครงการดูแลแม่ก๋ำเดือนนี้

“เอาภูมิปัญญามาประยุกต์ ใช้สิ่งที่เรามี เรามีหมอพื้นบ้านที่มีความรู้ ก็นำมาปรับใช้ แต่ก็ใช้แผนปัจจุบันด้วย ผสมผสานกัน เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดแก่คุณแม่หลังคลอดบุตรที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรเกือบทั้งหมดในชุมชนเลือกใช้วิธีการฟื้นฟูของเราหลังคลอด เสียงตอบรับดีมาก เราทำงานเชิงรุก คือไม่ได้แค่รอให้คนมาใช้บริการโครงการนี้ แต่เราจะไปเยี่ยมคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ไปบอกเล่าให้ความรู้และบอกว่ามีโครงการนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะตกลงอยู่ไฟกับเรา”

รักษาการ ผอ.รพ.สต.ไหล่หิน กล่าวอีกว่า ไม่ใช่เฉพาะการอยู่ไฟ หรืออบกระโจมเท่านั้น แต่การดูแลฟื้นฟูคุณแม่หลังคลอดของ รพ.สต.ไหล่หินถือว่าค่อนข้างครบวงจร ตั้งแต่การนวด ประคบ อบกระโจม อาบน้ำสมุนไพร รวมถึงการรัดหน้าท้องสลายไขมันหลังคลอดที่ใช้ผ้ารัดสมุนไพรเผาร้อนๆ จำพวกไพลย่าง มะกรูดย่าง ที่นอกจากจะช่วยสลายส่วนเกินในช่วงตั้งครรภ์แล้ว ยังเป็นการเร่งให้มดลูกเข้าอู่เร็วอีกด้วย

“ที่น่าทึ่งก็คือ บรรดาคุณแม่สาวๆ ที่ไปทำงานกรุงเทพฯ หรือไปอยู่เมืองใหญ่ๆ เมื่อครรภ์แก่ก็กลับบ้าน หรือตั้งใจจะมาคลอดที่บ้าน ก็เลือกที่จะใช้วิธีโบราณแบบนี้ แถมหลายคนติดใจ เอาไปบอกต่อ ทำให้คุณแม่ที่กำลังใกล้คลอดเกือบ100% ของชุมชนติดต่อมาใช้บริการการฟื้นฟูแม่ก๋ำเดือนแบบนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจริงๆ แล้วของเก่าดีๆ ก็ไม่ได้เชยเสมอไป คนรุ่นใหม่ๆ เองก็เห็นประโยชน์เช่นกัน”

ด้านขันทอง เมฆศิริ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.ไหล่หิน อีกหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงในการดำเนินการโครงการดีๆ เช่นนี้ กล่าวเสริมด้วยว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่เปิดโครงการได้ราว 1 ปี มีการตอบรับที่ดีมาก มีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก แต่ทางรพ.สต.ก็ยังอยากให้คุณแม่หลังคลอดทุกคนในชุมชนได้เข้าถึงการบริการอย่างทั่วถึง ในระยะเริ่มต้นจึงเป็นการให้บริการแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่หลังจากโครงการเป็นรูปเป็นร่างมั่นคงเมื่อราว 3-4เดือนที่ผ่านมา ได้มีการคิดค่าบริการเป็นค่าสมุนไพรและค่าไฟจำนวนเล็กน้อย ส่วนใหญ่รายได้ที่เข้ามาเป็นน้ำใจที่ผู้ใช้บริการหยิบยื่นกลับมามากกว่า แต่สำหรับผู้ที่มีสิทธิเบิกจ่ายได้ จะคิดราคา 100 บาท

“นอกจากนำสิ่งดีๆ ของทั้งสองยุคมารวมกันจนเกิดประโยชน์แล้ว สิ่งที่ได้อีกอย่างหนึ่ง คือ โครงการนี้ได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคน 2 รุ่น คือ รุ่นแม่รุ่นยาย กับคุณแม่รุ่นใหม่ ที่จะมีเรื่องพูดคุยกันในประเด็นของการอยู่ไฟ หลายคนกลับมาเล่าให้ฟังว่า แม่หรือยายก็บอกว่าเคยอยู่ไฟแบบนี้ แล้วก็มีการแลกเปลี่ยนความรู้ มีปฏิสัมพันธ์กันในครอบครัว และมีบางครอบครัวที่รุ่นแม่หรือรุ่นยายแนะนำให้ลูกที่กำลังจะเป็นมาลองใช้บริการของโครงการ เพราะสมัยก่อนคุณแม่หรือคุณยายเหล่านั้นก็เคยอยู่ไฟมาแล้วก็พบว่าภูมิปัญญาไทยดีจริง จึงอยากให้ลูกหลานได้ใช้ภูมิปัญญานี้บ้าง” เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญการรายนี้ทิ้งท้าย
อยู่ไฟแบบนอนบนแคร่
อยู่ไฟแบบเข้ากระโจม
สมุนไพรสำหรับอยู่ไฟ
โครงการดีๆ ในชุมชนเข้มแข็ง
แต่ถ้าอยู่ไกลหรืออยากทำเอง สปสช.ก็มีชุดแม่ก๋ำเดือนจำหน่าย
พ่อหมอประสงค์ วรรณมณี
(ซ้าย)อำพา เรืองฤทธิ์-(ขวา)ขันทอง เมฆศิริ
กำลังโหลดความคิดเห็น